ส่วนกรณีที่ กรธ.เพิ่มข้อบัญญัติเรื่องหน้าที่ของรัฐนั้น เป็นการกำหนดหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำ และมีสภาพบังคับ ต่างจากเดิมแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่รัฐบาลเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ แต่เมื่อกำหนดเป็นหน้าที่คือรัฐต้องกระทำ หากไม่กระทำอาจมีความผิด ถูกประชาชนฟ้องร้อง ถึงขั้นเป็นคดีอาญาได้ ทั้งนี้จะไม่มีการบัญญัติหน้าที่ของรัฐไว้ทุกเรื่อง จะบัญญัติไว้เฉพาะเรื่องที่ประชาชน ควรจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
"เรื่องหน้าที่รัฐต้องมีสภาพบังคับรัฐต้องทำ จากเดิมเขียนไว้เป็นสิทธิประชาชน แต่ข้อเท็จจริงอาจไม่ได้อะไรทำนองกินไม่ได้ ดังนั้น เราเห็นว่า เรื่องใดที่รัฐต้องทำก็กำหนดไว้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ ควรต้องทำ ไม่ต้องกังวลว่าประชาชนมีสิทธิหรือไม่ จะดีกว่า ถ้าอะไรเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องทำไม่มีนโยบาย แต่ต้องทำ เช่น รัฐต้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชน ถ้ารัฐไม่ทำประชาชนไปฟ้องได้ เหมือนประชาชนมีหน้าที่เสียภาษี ก็ต้องทำ แต่คงไม่เขียนอะไรตายตัวเช่นเรื่องการศึกษา อาจเขียนแค่ให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน" นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ.กล่าวว่า ส่วนการกำหนดให้เรื่องปฏิรูปและปรองดองเป็นหน้าที่ของรัฐหรือไม่นั้น อยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกัน เพราะกากจะบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในหน้าที่ของรัฐต้องสร้างกลไกและวิธีการปฏิบัติให้รัฐด้วยเพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน
ประธาน กรธ.กล่าวว่า กรธ.จะลงพื้นที่พบปะประชาชนร่วมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เนื่องจากมีเวลาน้อยไม่เพียงพอ จึงยังไม่ได้กำหนดการลงพื้นที่เอง แต่ตกลงกับ สนช.และ สปท.ว่า อาจจะมี กรธ.ร่วมลงพื้นที่ไปด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและทำความเข้าใจกับประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถส่งความเห็นมายัง กรธ.ได้หลายช่องทาง