"วิษณุ" หวังการทำงานแม่น้ำ 5 สายไร้ปัญหา เชื่อเข้าใจแนวทางมากขึ้นหลังนายกฯแจง

ข่าวการเมือง Wednesday October 28, 2015 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวภายหลังร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ว่า การชี้แจงในวันนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นโดยเฉพาะ กรธ. และ สปท. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน้าใหม่จะเกิดความรับรู้และเชื่อว่าความเข้าใจจะตามมาในไม่ช้า
"จากนี้ความร่วมมือของแม่น้ำ 5 สายคงจะไม่มีปัญหา ส่วนที่ไม่มีการเปิดโอกาสให้ถามตอบนั้นเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ทราบคำถามก่อนที่จะมีการชี้แจง จึงได้เพิ่มเนื้อหาเพื่อตอบคำถามช่วงท้ายการชี้แจง ส่วนที่มีการตั้งคำถามขึ้นใหม่ภายหลังการชี้แจงนั้นในช่วงที่รับประทานอาหารกลางวันสมาชิกแม่น้ำ 5 สายหลายท่านก็ได้ไปพูดคุยประเด็นที่สงสัยกับพล.อ.ประยุทธ์ด้วยตัวเองแล้ว"

นอกจากนี้ จะมีการตั้งวิปกลางร่วม ประกอบด้วยรัฐบาล สนช.และ สปท. เพื่อผลักดันให้เรื่องต่างๆเดินหน้าไปได้ โดยมีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวิปในส่วนของรัฐบาล ขณะที่การขับเคลื่อนการทำงานของ สปท.ที่ต้องการเสนอร่างกฎหมายซึ่งไม่สามารถดำเนินการเองได้ ก็ให้ร่างกฎหมายส่งมายังรัฐบาล และรัฐบาลจะให้สำนักงานกฤษฏีกา หรือ สนช.ช่วยดู แต่หากเป็นเรื่องเร่งด่วนสามารถอาจจะให้รัฐบาลส่งเรื่องไปยัง สนช.ให้เป็นวาระเร่งด่วน หรือออกเป็นพระราชกำหนด หรือใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อให้การปฏิรูปจบเร็วขึ้นได้

นายวิษณุ กล่าวถึงระบบการเลือกตั้งว่า เห็นด้วยกับความต้องการให้ทุกคะแนนมีความหมาย แต่จะเอาทุกคะแนนโดยเฉพาะคะแนนเสียงที่แพ้มาทำอะไร ซึ่งคนที่โหวตโนอาจจะถูกตัดสิทธิการเลือกตั้งในครั้งนั้นแต่ไม่ใช่ตลอดชีวิต และยืนยันว่าไม่มีการรณรงค์ให้โหวตโน หรือช่วยเหลือพรรคเล็กเพราะเชื่อว่าประชาชนจะต้องเลือกให้คนที่ตัวเองชอบชนะการเลือกตั้งอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หลักการเคารพเสียงทุกเสียงบางประเทศก็ได้นำมาใช้ แต่วิธีการไม่เหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีความหมายจะทำให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิ ทั้งนี้การโหวตโนเพื่อความสะใจอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ กรธ.จึงต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณาด้วย และยืนยันว่า คสช.ยังยึดตามโรดแมพเดิม

ส่วนที่ตนเองเคยบอกว่าไม่ปรองดองคงเลือกตั้งไม่ได้นั้น หมายถึงหากเกิดเหตุการณ์สู้กัน โกลาหล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ พรรคการเมืองไม่ออกมาลงสมัคร ประชาชนไม่สามารถออกมาเลือกตั้งได้ แต่ในส่วนของรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งยืนยันว่ายังเป็นไปตามโรดแมพเดิม หากเกิดเหตุ กรธ.ก็ต้องร่างให้อำนาจ กกต. ในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมนายสุวพันธ์ ได้ประสานได้ยัง กรธ. สปท. และสนช. ให้ลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป หรือกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ โดยให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นตัวแทนรัฐบาล หากมีเรื่องเฉพาะที่ตัวแทนรัฐบาลมีความข้อมูลไม่เพียงพอ รัฐบาลอาจส่งรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงด้วยตนเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ