(เพิ่มเติม) "วิษณุ"แจงใช้ ม.44 เพื่อคุ้มครองจนท.คดีจำนำข้าว ไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา

ข่าวการเมือง Monday November 2, 2015 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 39/2558 หรือคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลอย่างที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กล่าวหา เพราะหากตั้งใจใช้มาตรา 44 ดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว สามารถสั่งยึดอายัดทรัพย์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันเรื่องดังกล่าวจะไม่ใช้มาตรา 44 เข้าไปดำเนินการ
"มาตรา 44 ไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือไปเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ถ้าจะใช้ คงมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ไปแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับปากไม่ทำอย่างนั้นแน่นอน" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความระวัดระวัง สุจริต หากมั่นใจว่าการทำหน้าที่ทุกอย่างถูกต้องก็ไม่ต้องกลัวจะถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย และจะไม่ถูกเล่นงานเอาผิดทางวินัยย้อนหลัง อีกทั้งคำสั่งนี้ใช้บังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายที่ถูกกล่าวหา โดยคำสั่งดังกล่าวจะคุ้มครองจนกว่าคดีความจะถึงที่สิ้นสุด

ส่วนการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องดำเนินการด้วยความสุจริต ซึ่งหลังจากนี้จะมีการกำหนดมาตรการมาควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นอย่างถูกต้อง

นายวิษณุ กล่าวถึงการขยายระยะเวลาคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งหากการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จก็ยังสามารถขยายเวลาออกไปได้อีก แต่ต้องดูความเหมาะสมและต้องไม่ให้คดีขาดอายุความที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เนื่องจากเมื่อสรุปความเสียหายแล้วต้องส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่งที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานดำเนินการต่อ และขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่ควรใช้เวลามากนัก แต่เหตุที่มีการขอขยายเวลาเนื่องจากต้องรอพยานของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามาเข้ามาให้ข้อมูล

ด้านน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 เพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศว่า มั่นใจว่าการนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาใช้ในการบริหารจัดการข้าวคงเหลือในสต๊อกของรัฐบาล จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ในการทำงานระบายข้าว ทำให้การระบายข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยป้องกันไม่ให้รัฐได้รับความเสียหายจากความล่าช้าในการระบายข้าว เพราะขณะนี้ยังเหลือข้าวในสต๊อกอีกกว่า 13 ที่จะต้องดำเนินการระบาย ซึ่งมีทั้งข้าวคุณภาพดี ข้าวเสียและข้าวเกรดซี

“ถ้าไม่มี ม.44 มาช่วย การบริหารจัดการข้าว ที่มีอยู่ปริมาณมาก และมีคนเกี่ยวข้องมาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าไม่ได้รับความคุ้มครองการทำงานที่สุจริต ก็จะไม่มีกำลังใจในการทำงาน ยิ่งการระบายข้าวจากนี้ไป จะมีแต่ความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง โดยเฉพาะข้าวเสีย ข้าวเกรดซี แต่เมื่อมี ม.44 มาช่วย ถ้าทำงานโดยสุจริต ก็จะได้รับความคุ้มครอง ฟ้องร้องไม่ได้ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ถ้าทำงานโดยไม่สุจริต ยังฟ้องร้องได้ตามปกติ ซึ่งคงไม่มีทางเกิดขึ้น"

ทั้งนี้ ในส่วนของข้าวเสียและข้าวเกรดซี (ข้าวเสื่อมคุณภาพ) เป็นส่วนที่จะมีปัญหา เพราะการระบายจะไม่สามารถขายได้ตามราคาตลาด ซึ่งจะมีส่วนต่างที่ภาครัฐต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภาคเอกชน โดยเฉพาะเจ้าของโกดังที่เก็บข้าว ซึ่งเอกชนอาจจะไม่ยอมรับว่าข้าวที่เก็บในโกดังของตนเองเสียหาย และไม่ยอมจ่ายส่วนต่าง ก็อาจฟ้องกลับรัฐได้ แต่ภาครัฐมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้ เพราะมีบันทึกการตรวจสอบ มีห้องแล็ปที่เก็บตัวอย่างข้าวไปตรวจสอบ

ที่ผ่านมา มีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานโดยสุจริต มีความเกรงกลัว เพราะจะถูกฟ้องร้อง และกว่าศาลจะตัดสินก็ใช้เวลานานมาก ทั้งๆ ที่ในที่สุดแล้ว ส่วนใหญ่ภาครัฐก็เป็นฝ่ายชนะคดีก็ตาม แต่ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องร้อง เสียเวลา เสียโอกาสในการทำงาน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ตนเองถูกฟ้องร้องหลายคดีเช่นกัน เช่น ผู้ร้องอ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อข้าวจากรัฐ เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี และต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด ไม่สามารถยฟ้องเพราะการใช้มาตรา 44 ได้

ส่วนการใช้ มาตรา 44 ในการบริหารจัดการข้าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และคดีการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ