นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ตอบข้อซักถาม ซึ่งมีทั้งหมด 8 คำถาม โดยนายณรงค์ได้ตอบข้อซักถามประเด็นของการยื่นถอดถอนว่า กรณีที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่านายสมศักดิ์ จงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ เนื่องจากไม่แจ้งทรัพย์สินเรื่องการสร้างบ้านพักที่จังหวัดอ่างทอง ในระหว่างดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการนั้น ไม่ใช่ประเด็นของการถอดถอน แต่สืบเนื่องจากประเด็นนี้ก็ทำให้ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเรื่องการร่ำรวยผิดปกติ จนนำไปสู่กระบวนการถอดถอน
พร้อมกันนี้ ยังชี้แจงหลักเกณฑ์การชี้มูลว่านายสมศักดิ์ กรณีร่ำรวยผิดปกติว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณาจากหลายองค์ประกอบทั้งฐานะทางการเงิน รายได้ ที่มาของทรัพย์สิน จำนวนทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น และหนี้สินที่ลดลง ซึ่งจากการสังเกตพบว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่สัมพันธ์กับรายได้ของนายสมศักดิ์
นายณรงค์ ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานทุจริตคอร์รัปชั่นระหว่างที่นายสมศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ แต่ปรากฏหลักฐานเรื่องร่ำรวยผิดปกติ เพราะไม่มีที่มาของเงินที่อ้างว่าเป็นเงินสนับสนุนจากพรรค และไม่มีที่มาของเงินที่นำไปสร้างบ้าน ที่ถือว่าขัดกฎหมาย ป.ป.ช. จึงอยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้ ส่วนเหตุที่ไม่เคยเชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมาชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เพราะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทุจริต
ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ในฐานะผู้ถูกร้อง ตอบข้อซักถามว่า ครั้งแรกได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีวิเศษชัยชาญ ซึ่งมีชื่อภรรยามีหุ้นส่วน ส่วนน้อย แต่ต่อมาได้ถามเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.และปรึกษากับเพื่อนนักการเมือง ซึ่งเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินในส่วนนี้ แต่ตรงนี้กลับทำให้ตนถูกชี้ว่าจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ขณะเดียวกันจนถึงขณะนี้ทั้งบ้าน และโฉนดที่ดินที่จังหวัดอ่างทอง ยังเป็นชื่อของนายไพโรจน์ ฉัตรบริรักษ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาและยังไม่ได้รับโอน
"เขายังไม่ได้โอนอะไรให้ผม แล้วผมจะไปแจ้งว่าเป็นทรัพย์สินของผมได้อย่างไร ในเมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่าทรัพย์สินคือบ้านและที่ดินเป็นของผม ผมก็ต้องยกเอาคำวินิจฉัยดังกล่าวมาอ้าง แต่ในความเป็นจริงแทบจะไม่เคยเจอกับนายไพโรจน์ ฉัตรบริรักษ์ เลย"นายสมศักดิ์ กล่าว
ส่วนที่ สนช.ถามถึงเงินที่รับได้มา 41 ล้านบาทเศษ แต่ใช้จ่ายไป 23 ล้านบาทเศษ ได้ใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดก่อนปี 2540 ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ ตอนนั้นกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้ใช้เงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 เขตเลือกตั้ง แต่ขอถามว่ามีนักการเมืองคนใดบ้างที่ใช้เงินไม่ถึง 1 ล้านบาท นอกจากตัวเลขที่แจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ไม่พอ และไม่มีใครที่เข้ามาเป็นส.ส.แล้วใช้เงินไม่ถึง 1 ล้านบาท และตนยอมรับว่าใช้เกิน แต่ยอดสรุปที่ส่งให้ป.ป.ช.นั้น แบ่งการทำงานเป็น 3 ช่วง ตั้งแต่ก่อนยุบสภา ช่วงรณรงค์หาเสียง และหลังการเลือกตั้ง จึงจะกันเงินว่าจะต้องใช้จ่ายก่อนเลือกตั้งอย่างไร และหลังเลือกตั้งอย่างไร ซึ่งในส่วนหลังจึงนำไปหมุนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีวิเศษชัยชาญ
ทั้งนี้ หลังพิจารณาข้อซักถามเสร็จสิ้นแล้ว ประธานในที่ประชุมได้นัดวันแถลงปิดคดีในวันที่ 12 พ.ย.และลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ในวันที่ 13 พ.ย.