ส่วนวิธีการนับคะแนนนั้น กรธ.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะกำหนดเพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไร หลังมีเสียงท้วงติงว่าการไม่เอาคะแนนของผู้ชนะเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตมาคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่มีความเหมาะสม
"การคำนวณมีหลายวิธี เรากำลังคิดว่าจะนำคะแนนทั้งหมดมาใช้คำนวณเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงคะแนนอย่างไร โดยไม่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น" นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ. กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีความแน่นอนแล้ว คือ จำนวน ส.ส.ทั้งหมดจะมี 500 คน แบ่งเป็นระบบเขตเลือกตั้ง 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ซึ่งการเลือกตั้งระบบเขตจะใช้รูปแบบเขตเดียวคนเดียว ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเป็นบัญชีเดียวกันทั่วประเทศ แต่การจัดทำผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นอาจจะกำหนดให้ต้องมีผู้สมัครที่มาจากทุกภูมิภาค สำหรับที่มาของการกำหนดตัวเลข 350 และ 150 มาจากการที่เราคิดว่าเป็นจำนวนตัวเลขที่ใกล้เคียงกับอดีตมากที่สุด และเพื่อไม่ให้ประชาชนไปลงคะแนนเลือกตั้งมีน้ำหนักแตกต่างกันมากเกินไป
นอกจากนี้ กรธ.จะกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งไม่มีสิทธิไปอยู่ในฐานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพร้อมกัน ซึ่ง กรธ.คาดว่าระบบเลือกตั้ง ส.ส.แบบใหม่ที่ออกแบบจะทำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิมากขึ้นเพราะคะแนนของประชาชนทุกคะแนนจะมีความหมาย ไม่ทำเรื่องนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใด
"เลือกตั้งวิธีนี้รัฐบาลในอนาคตก็ยังเข้มแข็งได้ ถ้าชนะคะแนนมาก คุณก็ได้ ส.ส.มาก มันเป็นหลักปกติอยู่แล้ว เราไม่มีทางสกัดได้ และไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปกังวล เรากังวลแค่ว่าเมื่อคนไปลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ทำอย่างไรให้คะแนนของเขามีน้ำหนักและมีที่ยืนในสังคม" นายมีชัย กล่าว
ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จะมีผลกระทบต่อการนับคะแนนหรือไม่หากมีการทุจริตเลือกตั้งนั้น นายมีชัย กล่าวว่า การคำนวณจำนวน ส.ส.อาจทำเป็น 2 ระยะ 1.รับรองผลการเลือกตั้งก่อนครบกำหนด 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง เพื่อให้คำนวณหา ส.ส.ไปก่อน 2.การลงโทษหลังจากการรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่และนำคะแนนครั้งใหม่มาคำนวณ โดยจำนวน ส.ส.อาจเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ได้
"ถามว่าจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อรัฐบาลหรือไม่นั้น ก็ต้องถามว่าถ้ามันมาจากการทุจริต คุณจะหลับตาและปล่อยให้มันอยู่กันอย่างนั้นต่อไปเหรอ เราก็คิดว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น คนทุจริตเมื่อถูกจับได้ก็ต้องมีผลกระทบ ถ้าอยากจะให้มั่นคงก็ต้องอย่าไปทุจริตจนเขาจับได้" นายมีชัย กล่าว
ส่วนจะมีการกำหนดบทลงโทษว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าพรรคการเมืองทั้งพรรคทุจริตก็ต้องยุบพรรค แต่สำหรับกรณีที่ผู้บริหารพรรคทำผิดอาจจะไม่มีผลให้ถูกยุบพรรค เพราะเห็นใจคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพบว่าถ้าทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้บริหารพรรคไปอยู่ข้างหลังกันหมด ดังนั้นจะตัดสิทธิการเมืองเฉพาะบุคคลที่กระทำทุจริตและผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ แต่ยังไม่มีความคิดที่จะยุบพรรคการเมือง เว้นแต่จะเป็นกรณีที่พรรคการเมืองกระทำผิดเสียเอง
ส่วนจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่าพรรคการเมืองได้กระทำความผิด นายมีชัย กล่าวว่า ถ้าพรรคยอมให้คนต่างชาติเข้ามาบริหารพรรคอย่างนั้นก็ต้องยุบพรรค แต่ต้องยุบพรรคหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเขาเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ ถ้าไม่เป็นก็อาจต้องยุบพรรคเหมือนกัน เพราะแปลว่าพรรคการเมืองนั้นไม่มีคนมีฝีมือพอที่จะบริหารได้แล้วแต่ไปให้คนที่อยู่ข้างนอกมาบริหาร