ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสต็อกข้าวทั้งหมดมี 18.7 ล้านตัน เป็นข้าวที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือหย่อนคุณภาพเล็กน้อย 12 ล้านตัน ข้าวต่ำกว่ามาตรฐานหรือข้าวเสีย 6 ล้านตัน และเป็นข้าวขาดบัญชีจำนวน 4 แสนตัน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของคลังข้าวในกลุ่มที่ต่ำกว่ามาตรฐานและข้าวขาดบัญชีแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้าวนอกคลังกลางที่จะต้องตรวจสอบอีกจำนวน 3 แสนตัน สำหรับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษามีค่าเช่าคลัง ค่าฝากเก็บ การเก็บรักษา การรมยา ค่าเงินกู้ รวมทั้งการประกันภัย โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,000 ล้านบาท ถือเป็นภาระหนักของรัฐบาล
สำหรับการบริหารจัดการระบายช่วงที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้เริ่มระบายข้าวที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเปิดประมูลก่อน ส.ค.2557 โดยชะลอในช่วงเดือนปลายเดือนม.ค.-พ.ค.และเดือนพ.ย.-ธ.ค.เพื่อพยุงราคาไม่ให้แข่งขันหรือกระทบข้าวใหม่ที่กำลังออกมา และไม่ได้มองที่ตลาดข้าวอย่างเดียว แต่สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ และพลังงานทดแทนซึ่งจะต้องไม่ให้กระทบกับพืชที่ใช้เพื่อทำพลังงานทดแทนอื่นๆ โดยตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 จนถึงปัจจุบันได้ระบายข้าวไปแล้วจำนวน 5 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 52,300 ล้านบาท คงเหลือ 13.7 ล้านตัน
ส่วนข้าวเสียที่อยู่ในขั้นตอนแจ้งความดำเนินคดีต้องกันไว้เป็นของกลางนั้น ปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ได้แจ้งเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ว่า อนุญาตให้นำข้าวเหล่านี้ออกระบายได้
พร้อมยืนยันว่า คำสั่งคสช.ที่คุ้มครองดูแลเจ้าหน้าที่ทำคดีจำนำข้าวนั้น เจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจ ยึดมั่นในความสุจริตและเที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ต้องกลัวถูกฟ้องร้องหรือตรวจสอบวินัยย้อนหลัง
"ยืนยันว่าคำสั่งนี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือใช้เพื่อกลั่นแกล้งผู้กระทำผิด อย่างไรก็ดียอมรับว่านับตั้งแต่คสช.เข้ามาบริหารประเทศเจ้าหน้าที่ต้องทำงานด้วยความระมัดระวังมากจนทำให้มีผู้ติติงว่า ทำงานช้า ซึ่งเราพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดแต่ก็ต้องมีความโปรงใส รอบคอบและตรวจสอบได้"รมว.พาณิชย์ กล่าว