โฆษกกรธ. เผยเพิ่มอำนาจกกต.ปิดหน่วยเลือกตั้ง-ทำประชามติใหม่หากพบทุจริต

ข่าวการเมือง Monday November 9, 2015 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวก่อนการประชุมว่า ที่ประชุม กรธ.ยังมีการพิจารณาในเรื่องระบบการเลือกตั้งและวิธีคิดคำนวณ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งในระบบใหม่นั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สามารถประกาศผลได้เกินร้อยละ 90 ก็สามารถรับรองจำนวน ส.ส.และเปิดประชุมสภาได้ภายใน 30 วัน ขณะที่ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งในเขตที่มีปัญหาใบเหลือง ใบแดง หรือเขตที่มีโหวตโนมากกว่า เพื่อหาคะแนนต่อไปได้ แต่หากเกินกำหนด 30 วันหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว ยังไม่สามารถหาจำนวน ส.ส.เพื่อเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ให้ถือว่าคะแนนในเขตนั้นว่างลง ไม่มีการรับรอง ส.ส.ในพื้นที่นั้น และไม่มีคะแนนในพื้นที่นั้นที่จะนำไปคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยจะให้คิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพื้นที่ที่สามารถรับรองคะแนน ส.ส.เขตได้เท่านั้น ส่วนประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว) ยังไม่มีการหารือหรือมีข้อสรุปเรื่องจำนวน

นายมีชัย กล่าวว่า ช่วงปลายสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าจะพิจารณาโครงสร้างฝ่ายบริหาร เพราะต้องรอคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหารสรุปรายงานส่งมาให้ที่ประชุมก่อน

ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงว่า วันนี้ได้พิจารณาในหมวดองค์กรอิสระ ในส่วนของ กกต.โดยยังคงให้อำนาจสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่หรือใบเหลือง เป็นอำนาจของ กกต. กรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อว่ามีการทุจริต ส่วนอำนาจการเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งบุคคล(ใบแดง) ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะต้องผ่านศาลฎีกาวินิจฉัยก่อนหรือไม่ เนื่องจากกรรมการยังมีความเห็นแย้ง

นอกจากนี้ กรธ.ยังได้เพิ่มอำนาจให้ กกต.เพียงรายเดียวสามารถสั่งปิดหน่วยเลือกตั้ง หรืองดลงคะแนนได้ทันที หากพบเห็นการทุจริตซึ่งหน้า จากเดิมที่ต้องรอมติจากที่ประชุมใหญ่ กกต. ขณะเดียวกัน กรธ.ยังให้อำนาจ กกต.สามารถดำเนินการไต่สวนและสั่งการให้มีการออกเสียงประชามติใหม่ได้ กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่ากระบวนการออกเสียงประชามติมีการทุจริต

โฆษก กรธ.กล่าวว่า สำหรับคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระนั้น ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ แต่มีแนวโน้มว่า อาจจะกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาให้มาจากตัวแทนของแต่ละองค์กร ซึ่งอาจจะไม่ตายตัวว่า คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระแต่ละชุดจะเป็นคนเดียวกัน ขณะที่การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ยังมีความกังวลว่า หากจำนวน ส.ส.ส่วนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดจะทำอย่างไร เบื้องต้นทาง กรธ.ได้พิจารณาแล้วมีแนวโน้มว่าจะใช้การคำนวณไม่ซับซ้อน เปรียบเทียบหาในลักษณะบัญญัติไตรยางค์ โดยคิดจากฐานของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดให้มี 150 คน ยืนยันว่า กรธ.ต้องการความเป็นธรรมให้กับทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่ช่วยเหลือพรรคการเมืองใด ส่วนกรณีที่บางพรรคการเมืองมีศักยภาพส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ไม่ครบทุกเขตนั้น กรธ.จะไม่เขียนบทบังคับให้ดำเนินการใดๆ เพราะต้องการให้พรรคการเมืองต่างๆ มีการพัฒนาภายในพรรคตามศักยภาพที่พึงมี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ