อีกทั้งบุคคลที่ถูกศาลตัดสิทธิการลงเลือกตั้ง รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยถูกสภาฯ ถอดถอน รวมทั้งข้าราชการที่ถูกปลดออก ไล่ออก หรือถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดแม้จะเป็นการรอลงโทษทางอาญาในคดีที่ไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์หรือเรื่องสุจริต เช่น การยักยอกทรัพย์ ลักทรัพย์ ฉ้อโกงบุคคลอื่น
นอกจากนี้ บุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการตรวจสอบประวัติทางการเมืองและการเสียภาษีย้อนหลัง เพื่อเป็นมาตรฐานการตรวจสอบ ร่อนตระแกรงคนดี ไม่ให้นักการเมืองคนโกง คนค้ายาเสพติด หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็นส.ส.
นอกจากนายวันชัย เสนอกระบวนการระหว่างลงสมัครรับเลือกตั้งให้รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดข้อความให้ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการตีความ คือการหาเสียงเลือกตั้งต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม กำหนดประเด็นหาเสียงที่ทำได้ และทำไม่ได้ โดยงดการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม เช่น โครงการที่นำเงินไปแจกประชาชน หัวละ 2,000 บาท
“กรณีของผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งต้องถูกลงโทษที่รุนแรง ด้วยโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปี ถึงตลอดชีวิตเพราะถือว่าเป็นผู้ที่ที่ทำลายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่การตรวจสอบต้องทำให้รวดเร็วภายใต้ระยะเวลา 1 ปี ขณะที่ผู้ที่ซื้อสิทธิ ขายเสียง หรือที่เกี่ยวกับการทุจริตต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และผมเสนอด้วยว่าต้องห้ามลูก เมีย พ่อ แม่ของผู้ที่ทำทุจริตเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจต้องลงโทษด้วยการยุบพรรค ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งต้องเน้นการทำงานเชิงรุก" นายวันชัย กล่าว
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องแยกเนื้อหาระหว่างหลักการที่ปฏิบัติที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องเขียนเฉพาะหลักการเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องควรไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ไขในรายละเอียดได้ง่าย ขณะที่การเปลี่ยนผ่านเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ควรนำไปเขียนในบทเฉพาะกาล เช่น การบริหารราชการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามสูตรใหม่ ควรกำหนดให้มีวาระ 2 ปี เพื่อประเมินผลการเลือกตั้ง ว่าสุจริตเที่ยงธรรมหรือเที่ยงธรรมจริงหรือไม่ สามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้จริงหรือไม่
และส่วนตัวเชื่อว่าหากใช้การเลือกตั้ง 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี จะลดการซื้อเสียงได้แน่นอน รวมถึงที่มาของ นายกฯ ในบทเฉพาะกาล ควรกำหนดให้มาจากผู้ที่เป็นสส.หรือไม่เป็นสส.ก็ได้ ขณะที่การกำหนดวันเลือกตั้งไม่ควรเขียนผูกมัดไว้ แต่ควรให้เป็นดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์บ้านเมือง ภายใต้โรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่สว.ในหลักการควรมาจากการเลือกตั้ง แต่เพื่อแก้ปัญหาในบทเฉพาะกาลควรให้สว.มาจากการแต่งตั้ง
นายวิทยา แก้วภารดัย สมาชิก สปท. กล่าวว่า การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่วนตัวไม่ขัดข้องกับการลงคะแนนบัตรเดียว แล้วนำไปคิดหา ส.ส.ทั้ง 2 แบบ แต่ไม่เห็นด้วยกับระบบส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะประสบการณ์เลือกตั้งที่ผ่านมา หำให้เห็นนายทุน คนมีเงินไปลงส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด แล้วก็ไปเป็นรัฐมนตรีบริหารประเทศ
"คนเหล่านี้จ่ายเงินให้มีการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง และหาก กรธ.ยังหาข้อยุติที่จะทำให้การเลือกตั้งเลิกทุจริตไม่ได้ ก็จะมีปัญหา และมองว่า กรธ.อาจปล่อยให้มีส.ส.บัญชีรายชื่อได้บ้าง แต่ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนที่ กรธ.เคาะให้มีส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน เนื่องจากมีส.ส.บัญชีรายชื่อมากเกินไป...จึงอยากต่อรองกรธ.ว่า ควรมีส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อเพียง 50 คน ก็พอ"
นายวิทยา กล่าวต่อว่า เลือกตั้งจะแบบไหนก็ได้ แต่ต้องกำจัดการซื้อเสียงให้ได้ อยากเสนอให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง คือ โอนการจัดการเลือกตั้งไปที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดงบประมาณการใช้กำลังคน แล้วกกต. มาทำหน้าที่กำกับการเลือกตั้ง สืบหาข้อมูลการทุจริต ร่วมกับทหาร ตำรวจ และประชาชน ก่อนทำสำนวนส่งฟ้องศาล ที่จะต้องแยกเป็นแผนกคดีการเลือกตั้งทุกจังหวัด พิจารณาให้แล้วเสร็จ 30 วัน รูปแบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสมากขึ้น ฝาก กกต. ช่วยหาวิธีให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ขึ้นกับนายทุน"นายวิทยา กล่าว
ด้านนายนิกร จำนง สมาชิก สปท. อภิปรายว่า เรื่องการกำกับนโยบายพรรคการเมือง คือ สิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลมาก เพราะพรรคการเมืองคือสถาบัน ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งผ่านความต้องการของประชาชนกับรัฐบาล แล้วการชูนโยบายจะเป็นตัวช่วยลดการซื้อเสียง
"ส่วนตัวไม่ขัดข้องหากจะมีการตรวจสอบว่านโยบายเหล่านั้นเป็นประชานิยมหรือไม่ ดังนั้น กรธ.จึงไม่อาจกำหนดมาตราควบคุมพรรคการเมืองต่อการเสนอนโยบายได้ เพราะมันเท่ากับสกัดพัฒนาการทางประชาธิปไตย และขอย้ำว่า ส.ส.จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ไม่ควรมีกลุ่มการเมืองแบบร่างฉบับที่แล้วอีก"
อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการให้มีส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ส่วนเรื่องที่มาของส.ว. ให้ขึ้นอยู่กับอำนาจ หากจะให้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้มีศักดิ์เท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วอาจต้องถูกถอดถอน แต่หากให้มีเฉพาะอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย ก็ให้มาจากการสรรหาได้ สำหรับองค์กรอิสระพบว่า ไม่ควรอยู่นาน วาระบางองค์กรนานถึง 9 ปี ทางพรรคชาติไทยพัฒนามองว่า ควรมีสัก 6 ปี เพราะ องค์กรเหล่านี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ หากอยู่นานจะยิ่งมีศัตรูเยอะ ส่วนที่มา ก็ต้องมีความหลากหลาย เพราะตามแบบเดิมมักมีที่มาจากฝ่ายศาลเป็นส่วนใหญ่ วันนี้ที่ประชุม สปท. ได้เปิดอภิปรายแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธานสปท. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยเรื่องที่สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่ ให้ความสนใจในการอภิปราย คือ เรื่องการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปราย มีสมาชิก สปท.บางราย แสดงความข้องใจว่า ทำไมไม่มีตัวแทนจากกรธ.ร่วมรับฟังด้วย เพื่อจะได้นำประเด็นที่ สปท.หารือกันไปปรับใช้ ทำให้ น.ส.วลัยลักษณ์ ศรีอรุณ ประธานสปท. คนที่ 2 ชี้แจงว่า จะมีการถอดเทปการอภิปรายแล้วไปประมวลคิดวิเคราะห์ ก่อนนำเสนอจัดทำเป็นรายงานที่เหมาะสมต่อการพิจารณาของกรธ.