รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การเสียชีวิตผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะกรมราชทัณฑ์ดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศราว 3-4 แสนราย ก็มีกรณีฆ่าตัวตายและป่วยตายเช่นกัน แต่ไม่มีรายงานข่าว ขณะที่คดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน
"เรื่องนี้ต้องให้ความเป็นธรรม ผมไม่อยากให้สัมภาษณ์ เพราะจะกระทบต่อผู้เสียชีวิต" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
พร้อมขอร้องสื่อมวลชนให้ใช้ความระมัดระวังในการเปิดเผยชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอาจจะเกิดผลกระทบตามมา ดังนั้น ควรรอฟังคำชี้แจงจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)เท่านั้น
ส่วนการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิดในคดีนี้นั้น รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ต้องรอตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน จะดูแค่ตัวเลขไม่ได้ เพราะบางกรณีอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับให้กรมราชทัณฑ์ไปพิจารณาแก้ปัญหาความแออัดของเรือนจำที่ปัจจุบันรองรับนักโทษได้เพียง 1 แสนกว่าคน ขณะที่ในความเป็นจริงมีนักโทษถึง 3-4 แสนคน จึงมอบแนวทางให้ไปพิจารณาทั้งงบประมาณและเครื่องมือ โดยย้ำว่าไม่ใช่การสร้างเรือนจำเพิ่ม แต่ต้องเน้นการลดจำนวนนักโทษด้วยการให้การอบรมเพื่อคืนคนดีสู่สังคม
สำหรับการเสียชีวิตของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ได้รับทราบรายงานจาก รมว.ยุติธรรมแล้ว ซึ่งการคุมขังนักโทษในเรือนจำชั่วคราว มท.บ.11 อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ เพราะได้มีการขอใช้พื้นที่เพื่อความเหมาะสมในการดูแลนักโทษ ยืนยันว่ากฎระเบียบในการดูแลเหมือนกับเรือนจำทั่วไป ส่วนที่มีคนเสียชีวิตในเรือนจำติดต่อกันสองรายนั้นขอให้ฟังรายละเอียดจากแพทย์ พร้อมย้ำว่าไม่มีใครต้องการให้นักโทษเสียชีวิต
ส่วนคดีดังกล่าวหากเชื่อมโยงกับบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับใด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น แต่ให้รอผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ไม่ควรที่จะกล่าวหาหรือพาดพิงใคร