และในวันที่ 14 พ.ย.จะมีการบรรยายสรุปให้กับเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลก ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ สปท. ไปชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจถึงความตั้งใจในการขับเคลื่อนประเทศ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปี
"การแสดงความคิดเห็นของ สปท. เกี่ยวกับข้อเสนอในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะนำทุกความคิดเห็นส่งไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน สปท. เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทั้งในส่วนของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เคยทำไว้ โดยจะมีการพิจารณาของคณะกรรมาธิการประจำสภาทั้ง 11 คณะ ก่อนส่งให้วิป สปท. พิจารณาเพื่อดำเนินการส่งต่อไปกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป"นายอลงกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในวันที่ 14- 15 พ.ย.นี้ แม่น้ำ 4 สาย ซึ่งประกอบด้วย สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะเดินทางลงพื้นที่ จ.แพร่และน่าน เพื่อไปทำความเข้าใจกับประชาชน และถือเป็นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปและการจัดทำรัฐธรรมนูญ
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสปท. ชี้แจงแนวทางการทำงานต่อคณะทูตและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 74 ประเทศ ว่า สปท.จะทำงานสอดคล้องไปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.), คณะรัฐมนตรี(ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) โดยระยะแรกของโรดแมปตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 ถึงวันที่ 30 ก.ย.57 คสช.ได้บริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
โดยขณะนี้เข้าสู่โรดแมพระยะที่ 2 จนถึงเดือน ก.ค.60 ซึ่งเป็นการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค.60 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงส่งต่อการบริหารประเทศให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องรับช่วงภารกิจที่สำคัญให้ต่อเนื่อง โดย สปท.จะจัดทำแนวทางการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ทุกส่วนราชการได้นำไปใช้ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องการการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ การตรวจสอบไม่ให้ผู้ที่กระทำกรทุจริตได้เข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้ง การป้องกันการแทรกแซงการทำหน้าที่ของข้าราชการ การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร
ประธาน สปท. กล่าวว่า การปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกันการสร้างค่านิยมทางการเมืองที่ผิดๆ และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว และสุดท้ายคือการดูแลการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลให้เหมาะสม แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องดำเนินตามยุทธศาสตร์นี้อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ สปท.จะจัดบรรยายสรุปให้กับเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลกที่กระทรวงการต่างประเทศ ในเวลา 09.00 น. ซึ่งรัฐบาลได้ให้ สปท.ชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจถึงความตั้งใจในการขับเคลื่อนประเทศ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ การทุจริต คอรัปชั่น เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปี
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก สปท.กล่าวภายหลังชี้แจงต่อคณะทูตานุทูตเสร็จว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจเรื่องการมีส่วนร่วม ซึ่ง สปท.ได้ตั้งศูนย์การรับฟังความคิดเห็นและช่องทางรับฟังความคิดเห็นกว่า 11 ช่องทาง รวมถึงข้อมูลจากอนุรับฟังความคิดเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)จำนวน 2 แสนความเห็น จาก 700 เวที และ สปท.จะพบปะประชาชนร่วมกับ สนช. และ ครม. เดือนละ 1-2 ครั้ง เริ่มจากในวันที่ 14-15 พ.ย.58 ลงพื้นที่ จ.แพร่, น่าน และในเดือน ธ.ค.ที่ จ.เชียงราย
นอกจากนี้ คณะทูตานุทูตยังให้ความสนใจเรื่องการปรองดอง ซึ่ง สปท.ชี้แจงว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการปฏิรูป เพราะเปรียบได้กับเหรียญสองด้าน ซึ่งต้องปฏิรูปไปพร้อมกับการสร้างความปรองดอง ส่วนความปรองดองในความหมายเฉพาะหน้า เช่น การนิรโทษกรรม โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สนช., สปท. และครม. จะต้องหารือร่วมกัน แต่ขณะนี้อยู่ในความรับผิดชอบคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้านการเมือง ซึ่งจะเสนอวิธีการปฏิรูปภายใน 30 วัน หลังจากประชุมในวันนี้เป็นนัดแรก
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศฯ เห็นว่าการสร้างความปรองดองเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ตามโรดแมพระยะที่ 3 ของ สปท. ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างมาก ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย โดย สปท.เสนอให้นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 เข้าร่วมคณะกรรมการฯ ด้วย