"ข้อวิจารณ์ที่ผ่านมา กรธ.ยังไม่เห็นเหตุผลที่แท้จริง เพราะทั้งหมดเข้าใจยาก ที่ฟังมาก็ยังไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรจะขอลองฟังดูอีกสัก 2-3 วัน" นายมีชัย กล่าว
ทั้งนี้ จากที่พรรคการเมืองแสดงความไม่เห็นด้วยโดยระบุเหตุผลต่าง ๆ 5 ประการ คือ 1.วิตถาร ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าวิตถารตรงไหน อย่างไร จึงไม่รู้จะชี้แจงอะไร 2.เปิดช่องให้มีคนนอก ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะกรธ.ต้องการเพียงให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อนายกรัฐมนตรีก่อนเท่านั้น และการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับมติของพรรคที่จะเป็นผู้กำหนดด่านแรก และด่านที่สอง คือ ส.ส.ทั้งหมดในสภาจะเป็นคนลงมติเลือก
"คำถามคือหากพรรคการเมืองไม่ชอบคนนอก แล้วจะมีเหตุอะไรที่พรรคจะเสนอชื่อคนนอก ไม่ชอบคนนอกก็ไม่ต้องเสนอ อีกทั้งด่านแรกที่เปิดให้เสนอก็ยังไม่มีใครได้เป็น ส.ส.เพราะเพิ่งจะเริ่มรณรงค์เลือกตั้ง หรือหากมีพรรคไหนเสนอชื่อคนนอก ส.ส.ในสภาที่มีอำนาจลงมติก็ไม่ต้องไปเอา ถ้าพรรคการเมืองและ ส.ส.ทั้ง 500 คนไว้ใจไม่ได้ แล้วเราจะพึ่งใครได้" นายมีชัย กล่าว
3.ขัดเจตนารมย์ประชาชน ก็ไม่ทราบว่าขัดอย่างไร เพราะระบบเดิมพรรคจะเสนอใครก็ได้ที่อยู่ในสภาก็ไม่รู้ก่อนเลยว่า ส.ส.จะเลือกใคร 4.ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ส่วนตัวเห็นว่ายึดโยงที่สุด มันจะทำให้เห็นว่าประชาชนจะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคจะเสนอคนเดียวไม่ถึง 5 คนก็ได้ แต่หากเกิดง่อยเปลี้ยเสียขาขึ้นมา เวลาจะโหวตก็ต้องไปหยิบชื่อของพรรคอื่นมาแทน
และ 5.ก้าวก่ายพรรคการเมือง กรธ.ยืนยันว่า ไม่ได้ก้าวก่ายหรือบังคับ พรรคการเมืองมีอำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีกันเองก่อนเลือกตั้ง แล้วมาเลือกกันในสภา แต่หากก้าวก่ายในหมายความว่า เป็นการกำหนดกรอบ เพื่อไม่ให้พรรคไปหยิบชื่อใครที่คนไม่รู้จักมาก็ได้ ก็ต้องอย่าลืมว่านี่คือประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิรับรู้ก่อนได้
ประธาน กรธ.กล่าวว่า การเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคนั้น กรธ.กำลังหารืออยู่ ยังไม่มีข้อยุติว่าจะให้เรียงลำดับ หรือเปิดให้เลือกกันเองได้ แต่เบื้องต้นมองว่าไม่จำเป็นต้องจัดลำดับ เนื่องจากการเรียงลำดับมีข้อดี คือ ประชาชนจะรู้ว่ารายชื่อนายกรัฐมนตรีแต่ละคนจะอยู่ในลำดับใด แต่ข้อจำกัด คือ หากเป็นรัฐบาลผสมแล้ว อาจทำให้ถึงทางตันได้ ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเกิดไม่เอาชื่อตามลำดับนั้น
หากมีการตั้งรัฐบาลแล้วรายชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่จะใช้เสนอให้ ส.ส.เลือก ซึ่งก่อนจะมีการเลือก พวกเขาก็จะเจราจากันแล้ว ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า พรรคที่คะแนนมากสุดจะได้นายกรัฐมนตรี แต่ กรธ.ก็จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่า พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่จะสามารถนำรายชื่อนายกรัฐมนตรีมาเสนอให้สภาเลือกได้ จะต้องมี ส.ส.ในสภาอย่างน้อย 5% หรือ 25 คน เพื่อแก้ข้อห่วงกังวลว่า อาจมีผู้ไปตั้งพรรคการเมืองขนาดเล็กขึ้นมา หวังให้ได้ ส.ส.ซัก 1 คนเพื่อร่วมรัฐบาล แล้วมีอำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้สภาโหวต
สำหรับการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น เบื้องต้นจะไม่ให้ซ้ำกัน ส่วนรายชื่อที่เสนอนั้นจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็แล้วแต่พรรคการเมือง จะไม่เข้าไปยุ่งมากจนเกินเหตุ กรธ.เพียง 21 คน จะไปสร้างข้อผูกมัดไม่ได้ แต่จะเขียนให้กว้าง แล้วให้พรรคไปกำหนดเอง หากไม่ชอบ พรรคก็แก้กันเองได้ จะได้ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
ส่วนมาตรการป้องกันการฮั้วกันของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางก่อนการเลือกตั้งนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ระบบไหนก็มีโอกาสเกิดขึ้น ไม่มีอะไรห้ามเป็นพันธมิตรกัน ก็เป็นเรื่องของเขา แต่เชื่อว่า การยอมที่นั่งกันในสภาจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิม ส่วนการเป็นพันธมิตรกันทางการเมืองกันเป็นเรื่องปกติ อะไรไม่เป็นอันตรายก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ
"ที่มองว่าเป็นการเอื้อให้ทหารจัดตั้งรัฐบาล ผมมองว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น มันมีกรอบป้องกันเป็นชั้นๆแล้ว การจะทำให้เป็นอย่างนั้น ก็ต้องรู้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดประชาชนจะรู้ล่วงหน้า" นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ.กล่าวว่า รูปแบบการถอดถอนมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ ส.ว.ไปถอดถอนเหมือนเดิมคงยาก เพราะพรรคการเมืองมีโอกาสครอบงำ ส.ว.ได้มาก ส่วน ป.ป.ช. ที่มีอำนาจสอบสวนทำสำนวนอยู่แล้ว ก็คงไม่สามารถให้อำนาจถอดถอนได้ มิเช่นนั้น ป.ป.ช.ก็จะเป็นคนทำเองทุกกระบวนการ จึงกำลังหาอยู่ว่า จะใช้กลไกใดได้บ้าง แต่โทษคือพ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่หยุดปฏิบัติหน้าที่เหมือนคดีอาญา ส่วนจะตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตหรือไม่นั้นก็กำลังพิจารณาอยู่
ทั้งนี้ อยากทำให้แน่ใจว่าที่มาของ ส.ว.จะต้องไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของนักการเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนพอสมควรด้วย เพราะยังต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งตามสาขาวิชาชีพหรือไม่ กรธ.ก็ยังไม่ตลกผลึกในเรื่องนี้