สำหรับการประชุม IEA Ministerial Meeting เป็นการประชุมหารือความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ที่เป็นสมาชิก IEA หรือทบวงพลังงานระหว่างประเทศ(International Energy Agency) จำนวน 29 ประเทศ อาทิ ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิตาลี และญี่ปุ่น และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่เป็นพันธมิตร ได้แก่ ประเทศบราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก โมร็อคโค แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็น และวางแผนสำหรับกลุ่ม IEA และประเทศพันธมิตร เกี่ยวกับทิศทางการกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของ IEA
สมาชิกจะร่วมหารือกันถึงสถานการณ์พลังงานโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น ราคาน้ำมัน และการค้นพบแหล่งเชลล์แก๊สของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้น้ำมันในตลาดโลกมีมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ความต้องการใช้ชลอตัวลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง รวมถึงการหารือกันในด้านการวิเคราะห์ วิจัย เทคโนโลยี และการสนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานในเมืองสมัยใหม่ นอกจากนี้ประเด็นการหารือที่สำคัญจะเป็นการแสวงหาแนวทางด้านพลังงานที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(COP 21) ที่กรุงปารีสในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เข้าร่วมประชุม แม้ว่าไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก เนื่องด้วยที่ผ่านมาประเทศไทยและ IEA ได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในการพัฒนาความมั่นคงทางด้านพลังงานให้เกิดขึ้น อาทิ การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานของไทยกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ โดยมีขอบเขตความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ด้านความมั่นคงทางน้ำมันและก๊าซ(Energy Security) 2.ด้านกรอบแนวทางการสำรองน้ำมัน(Stockholding Regime) 3.ด้านนโยบายและมาตรการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน(Energy Emergency Preparedness) และ 4 ด้านสถิติด้านพลังงาน (Energy Statistics) เมื่อวันที่ 23 ก.ย.57 ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 32 ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว