นายมีชัย กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นทำไม่ยาก เพราะเขียน 2-3 มาตราก็ทำได้ แต่ในทางปฏิบัติให้เกิดการมีส่วนร่วมรับผิดชอบได้อย่างไรไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกฝ่ายพูดว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องสั้นกะทัดรัด ไม่มีรายละเอียดมาก และคนทั้งบ้านเมือง เรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องใส่ ซึ่งหากใส่ตามที่ขอ รัฐธรรรมนูญจะหนา ดังนั้นต้องคำนวณว่าใส่อะไรบ้าง ซึ่งภารกิจ กรธ.จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เมื่อปฏิรูปประเทศ สิ่งหนึ่งที่ กรธ.คิดแล้วประเทศมีปัญหาเกิดจากอะไร จะได้ไปปฏิรูปกันถูก หากไม่รู้ปัญหา ก็ไม่สามารถเขียนป้องกันได้
"กรธ.ที่ได้รับแต่งตั้งทั้ง 21 คนเข้ามาด้วยกระดาษเปล่า ขณะที่ใครๆ ก็บอกว่ามีโผหรือพิมพ์เขียว ถ้าหากมีก็ดี จะได้ทำงานน้อยหน่อย แต่ให้กระดาษเปล่า พร้อมกรอบ 5 อย่าง ไม่ใช่เรื่องง่าย" นายมีชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรธ.1 คน ไม่มีขีดความสามารถไปรู้จิตใจประชาชน และแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ตามปกติการรับฟังความเห็นเพื่อให้สังคมได้เห็นว่าได้มีการรับฟังแล้ว กรธ.ชุดนี้จำเป็นต้องรับฟังเพื่อเอาความเห็นไปใช้ คิดเองก็ไม่ออกจริงๆ บางเรื่องรู้เป้าหมาย เช่น บ้านเมืองไม่มีวันเดินไปได้ หากระบบการศึกษาเป็นแบบนี้ เพราะไม่ได้สร้างวินัย จนสร้างปัญหา สังคม และส่วนตัวจำเป็นต้องปฏิรูปอย่างแรก การรับฟังความเห็นช่วยได้มหาศาล
นายมีชัย กล่าวว่า การปฏิรูปทำอย่างไร เช่น ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ยุติธรรม ทัดเทียม แต่ไม่มีใครเคยบอกทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ แล้วทำไมกรธ.ต้องการรับฟังความเห็น เพราะความคิดเห็นหลากหลาย คงไม่ได้ลอกหรือรับไปเขียนทั้งหมด แต่ความคิดเห็นถือเป็นจุดประกายทางความเห็น กรธ.ไปต่อยอด
"เราจะฟังทั้งหมด แล้วเอาประกายความคิดห็นของท่านไปเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ความคิดเห็นประชาชน และนอกเหนือไปจากการมีส่วนร่วม จะช่วยกันอย่างไรเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกนี่คือรัฐธรรมนูญของเรา ใช้เป็นหลักปกครองประเทศ และทิศทางรัฐธรรมนูญไปสู่จุดเกิดประโยชน์พัฒนาบ้านเมืองอย่างสูงสุด" นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวว่า กรธ.มีเวลา 6 เดือน จึงไม่สามารถจัดสัมมนาทั่วราชอาณาจักรเหมือนชุดที่ผ่านมา แต่ก็ได้หยิบจากที่ผ่านมาใช้ประโยชน์ตามเวลาเอื้ออำนวย ขอให้มั่นใจว่า กรธ.ไม่มีฝักใฝ่พรรคใด ให้ได้หรือเสียประโยชน์ แต่จะเป็นกลไกเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน เคารพสิทธิประชาชนแท้จริง ไม่เอาใจช่วยพรรคใด ส่วนประชาชนจะเลือกใคร กรธ.ไม่เกี่ยวข้อง และหากต้องการเสนอแนะขบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ก็ควรเอาพรรคไว้บ้าน มาตัวเปล่า และคิดว่าบ้านเมืองจะดีได้อย่างไรตามรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งประเทศและส่วนรวม
ด้านนายไมตรี จงไกรจักร ตัวแทนกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มีความปรารถนาให้รัฐธรรมนูญที่ กรธ. กำลังร่างนี้ ดีกว่าทุกๆฉบับที่ผ่านมา โดยเสนอว่า ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการคุ้มครองเขตพื้นที่เฉพาะทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ กำหนดให้ผู้ที่ปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง กำหนดแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินและคุ้มครองพื้นที่ทางเกษตรกรรม เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสถือครองอย่างเท่าเทียมกัน
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในฐานะตัวแทนสื่อ เสนอให้รัฐห้ามแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการทำงานของสื่อ เปิดโอกาสให้สื่อมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และมีกลไกที่ดูแลประชาชนที่เสียหายจากการทำงานของสื่อ
ขณะที่นายไกรยศ ภัทราวาท ตัวแทนสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน เสนอให้มีบทบัญญัติกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา โดยให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง และกำหนดให้มีแผนการศึกษาของชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ตัวแทนกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า ทาง กรธ.ได้มีจุดมุ่งหมายให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีความสั้น กระชับแต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสนธิสัญญา ก็ขอให้ กรธ.ได้เขียนอย่างละเอียด และให้มีกฎหมายลูกประกอบเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาในบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของฝ่ายบริหาร แต่เป็นการทำให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้องค์กรผู้คุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากรัฐบาล เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม อีกทั้ง ทางเครือข่ายคนรักประกันสุขภาพ ได้เสนอให้มีการรวมกองทุนสวัสดิการสุขภาพทั้ง 3 องค์กร กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลอมรวมเป็นกองทุนเดียวกัน โดยมีการบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทัดเทียมทั่วถึงกัน ส่วนตัวแทนของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยได้เสนอให้บัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และหากมีการสรรหา ส.ว. ก็จะต้องให้มีการคัดเลือกให้สัดส่วนชาย-หญิงมีความใกล้เคียงกัน
ในวันนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และคณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความเห็นที่มีผู้เสนอแนะในการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความเห็นของกลุ่มเฉพาะต่อร่างรัฐธรรมนูญ" ณ อาคารรัฐสภา 2 โดยมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มปฏิรูปด้านการศึกษา กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มการค้าเสรี กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มสื่อสารมวลชน และกลุ่มสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เข้าร่วมงานดังกล่าว