นางเพ็ญโฉม กล่าวว่า ขณะนี้การต่อสู้คดีดังกล่าวที่กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทเอกชน 19 รายยังไม่สิ้นสุด ยังอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกา ดังนั้นรัฐบาลควรรอให้ศาลได้ตัดสินให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559
การที่ ครม.มีมติให้จ่ายเงินไปก่อนโดยที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน หากมีผู้ฟ้องร้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายทั้งหมด เพราะเป็นการบริหารงานหละหลวมเหมือนสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าว และหากจ่ายเงินไปแล้ว ศาลมีคำพิพากษาให้ คพ.ชนะคดี รัฐจะไม่สามารถทวงเงินคืนได้ หากรัฐบาลไม่แน่ใจว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร ขอแนะนำให้ปรึกษากับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยวิเคราะห์แง่มุมทางกฎหมายเพื่อประกอบการตัดสินใจ
"หากรัฐบาลผลีผลามจ่ายเงินค่าเสียหายแก่เอกชนตามคำตัดสินของสถาบันอนุญาโตตุลาการ และการชี้ของศาลปกครอง โดยไม่รอฟังผลการพิจารณาของศาลฎีกา รัฐบาลจะไม่สามารถทวงเงินที่จ่ายให้เอกชนคืนสู่รัฐได้อีกเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นหากในอนาคตมีผู้ฟ้องร้องว่า รัฐบาลหละหลวมในการดำเนินการเรื่องนี้จนเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียหาย รัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อจำนวนเงินดังกล่าว" นางเพ็ญโฉม กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ในส่วนของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านนั้นเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ปี 2537 จึงเป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่จะยับยั้ง ทบทวน และชะลอไม่ให้โครงการดังกล่าวเป็นที่หากินของใครได้อีก ถ้ารัฐบาลตัดสินใจผิดก็ต้องผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เพราะมติ ครม.สามารถยับยั้ง เปลี่ยนแปลง หรือชะลอได้
"เนื้อที่บริเวณโครงการดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดและอนุบาลหอยแต่ละชนิด และเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แต่ผ่านมาแล้ว 18 ปี รัฐบาลไม่เคยคำนวณความเสียหายว่ามีมูลค่าเท่าใด และไม่เคยต่อสู้คดีอย่างจริงจัง" นางเพ็ญโฉม กล่าว
ด้านนางดาวัลย์ กล่าวว่า เกิดการคำถามขึ้นมาเมื่อ ครม.มีมติให้เบิกจ่ายงบประมาณแก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ว่า ทำไมรัฐบาลต้องเร่งรีบจ่ายเงินค่าเสียหาย เพราะรัฐบาลกลัวหรือเอกชนกลัวกรณีโกงสัญญาที่ดินหรือไม่จึงเกิดการล็อบบี้ ซึ่งหากรัฐจริงจังกับการต่อสู้คดีก็มีแนวโน้มว่าจะชนะ
"คดีนี้นักการเมืองอาวุโสทุกคนรับรู้ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้ทำอะไร อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะโยนให้องค์การจัดการน้ำเสียหรือจังหวัดเป็นผู้ดูแล เพราะโครงการนี้ตั้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เครื่องบำบัดนำเสียน้ำที่นำมาใช้ก็ใช้ไม่ได้ หากทุ่มเงิน 300 ล้านบาทเพื่อศึกษาโครงการเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ศึกษาไว้แล้วในปี 2548 ขอยืนยันว่า ประชาชนตำบคลองด่านยังคงคัดค้านโครงการนี้" นางดาวัลย์ กล่าว
อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน เห็นว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ได้ปกปิดข้อมูลสำคัญอันเป็นเหตุให้ คพ.พลาดพลั้งทำสัญญาว่าจ้างให้ดำเนินโครงการจนกลายเป็นความเสียหายบานปลายแก่ประเทศในที่สุด และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกสัญญาโครงการนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย.58 มีมติเห็นชอบให้สำนักงบประมาณเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อชำระค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตำบลคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยแบ่งการชำระเงินออกเป็น 3 งวด คือ งวดแรก ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ชำระ 40% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงินกว่า 3,174 ล้านบาท และอีกกว่า 21.71 ล้านเหรียญสหรัฐ, งวดที่ 2 ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ และงวดที่ 3 ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ชำระ 30% ของค่าเสียหายทั้งหมด เป็นเงิน 2,380 ล้านบาท และอีกกว่า 16.88 ล้านเหรียญ