โฆษกกรธ. เสนอที่มาส.ว.ใช้วิธีเลือกตั้งทางอ้อม-ตัดอำนาจถอดถอน ให้เป็นหน้าที่ป.ป.ช.

ข่าวการเมือง Monday November 23, 2015 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เล็งเห็นข้อเสียทั้งในการเลือกตั้งและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งถ้านำทั้ง 2 วิธีการมารวมกันปัญหาก็ไม่หมดไป จึงมีกรรมการเสนอจัดการการเลือกตั้งทางอ้อมให้ส.ว. โดยตัวแทนประชาชนจากกลุ่มวิชาชีพและอาชีพต่างๆ ซึ่งจะกำหนดให้มาจากจังหวัด ภูมิภาค หรือประเทศ ยังคงต้องเป็นเรื่องที่หารือต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจำนวน ส.ว.จะมีทั้งหมด 200 คน

สำหรับอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะนี้มีความชัดเจนว่าส.ว.จะไม่มีอำนาจดังกล่าว เพราะขัดต่อบุคคลที่มาจากคะแนนนิยมของประชาชน แต่ยังคงอำนาจเดิมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นผู้ไต่สวนคดีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ซึ่งไม่ได้เป็นการโยนอำนาจแต่อย่างใด เนื่องจากหากนักการเมืองมีความผิดหรือขาดคุณสมบัติ ซึ่งมีกฏหมายรองรับอยู่แล้ว เพียงแต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ

นายนรชิต กล่าวว่า ได้มีการทำโพลล์ของนิด้าร่วมกับคณะ กรธ.ในประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี โดยผลสำรวจกว่า 80% เห็นด้วยในการให้เสนอชื่อก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงจำนวนรายชื่อที่ถูกเสนอส่วนใหญ่บอก 1 คน รองลงมา 3 คน และสุดท้าย 5 คน ส่วนคุณสมบัตินายกฯ จะเป็นสมาชิสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่นั้น ผลสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่าไม่จำเป็น อีกทั้งผลสำรวจยังบอกว่าพรรคการเมืองอาจมีเสนอชื่อซ้ำกัน จึงต้องมีวิธีแก้ไขไม่ให้ซ้ำกันด้วย

ทั้งนี้ กรธ.ได้เห็นควรให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการปฏิรูป การศึกษา และการบังคับใช้กฏหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและดำเนินการศึกษาแนวทางการปฏิรูปการศึกษา และการบังคับใช้กฏหมายเพื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิกในคณะกรธ. 5 คน และไม่ใช่คณะ กรธ.อีก 4 คน โดยจะเริ่มประชุมหารือและทำงานในวันที่ 24 พ.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ