ทั้งนี้จึงมีการเสนอให้ลงโทษคดีทุจริตที่เป็นความจงใจ ส่อทุจริตไม่ต้องรอลงอาญาอีกต่อไป ยกเว้นแต่กรณีรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนโทษปรับต้องปรับจริงดำเนินการจริงในสมัยเลือกตั้งนั้น ไม่ควรปล่อยระยะเวลานานเป็น 10 ปี แล้วค่อยดำเนินการ สำหรับบทลงโทษทางการเมืองผู้ที่ทุจริตต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทหาร และตำรวจ จะต้องมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และหากพบการทุจริตในการเลือกตั้ง กกต.ในฐานะผู้ควบคุมการเลือกตั้งจะต้องได้รับบทลงโทษ ฐานปล่อยปละละเลย
สำหรับระบบการเลือกตั้งนั้นควรมี ส.ส.จำนวน 400 คน ไม่ควรมีระบบบัญชีรายชื่อ และใช้ระบบ 1 คน 1 คะแนน หรือวันแมนวันโหวต โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และใช้จำนวนประชาชนในพื้นที่เป็นตัวกำหนดเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ที่มาของนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดว่าจะเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรหรือคนนอก แต่กรณีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกจะต้องได้รับเสียง 3 ใน 5 ของสภาฯ และนายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ คือ 240 คน
อย่างไรก็ดี โดยต้องเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายใน 30 วัน แต่ถ้าเลือกไม่ได้ต้องยุบสภาฯ และเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน ส่วนที่มาของ ส.ว.นั้น เบื้องต้นยังสนับสนุนให้มี ส.ว.อยู่ เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบทางการเมือง แต่ไม่ควรมีอำนาจถอดถอนทางการเมือง ส่วนเรื่องจำนวนของ ส.ว.นั้น ที่ประชุมยังไม่ตกผลึก โดยจำนวนคาดว่าจะมีประมาณ 200-250 คน ส่วนเรื่องของวิธีการได้มาฯ ยังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะต้องมีหารือกันอีกครั้ง