สืบเนื่องจากความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ(OGP) ได้ริเริ่มเมื่อวันที่ 20 ก.ย.54 มีประเทศสมาชิกก่อตั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่เข้าร่วม 65 ประเทศ มีการจัดทำปฏิญญาการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ(Open Government Declaration) มีเป้าหมายเพื่อผูกพันรัฐบาลในการส่งเสริมความโปร่งใสให้อำนาจภาคประชาชน ต่อต้านการทุจริต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลภาครัฐ โดยการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย(Multi-stakeholder collaboration) ควบคุมดูแลโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศสมาชิก
โดยประเทศที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิก OGP จะต้องได้รับการประเมินผลการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ 4 ด้าน คือ ความโปร่งใสด้านการคลัง(Fiscal Transparency) การเข้าถึงข้อมูล(Access to Information) การเปิดเผยข้อมูลด้านรายได้และสินทรัพย์ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ(Public Officials Asset Disclosure) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน(Citizen Engagement) โดย OGP จะทำการประเมินผลตามเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อเข้าเป็นสมาชิกทุกๆ ปี รวมถึงภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกด้วย ซึ่งประเทศที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องได้คะแนนการประเมินผลอย่างน้อยร้อยละ 75 ของคะแนนทั้งหมด โดยมีคะแนนเต็ม 16 คะแนน คะแนนผ่านเกณฑ์การประเมิน 12 คะแนน ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2014 OGP ได้ประเมินผลตามหลักเกณฑ์ข้างต้นทั้ง 4 ด้าน และมีประเทศที่ผ่านเกณฑ์การประเมินเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก OGP ทั้งหมด 93 ประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิก OGP ได้ โดยมีคะแนนการประเมิน 13 คะแนน
หลังจากนั้นให้จัดส่งหนังสือแสดงความจำนงในการเข้าร่วม OGP ไปยัง OGP Steering Committee และสำเนาให้ OGP Support Unit และจัดทำแผนการดำเนินงานการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
ส่วนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ(Open Government Partnership Committee) ประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการจำนวน 11 คน โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ ที่ปรึกษา/รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายการจัดซื้อโดยรัฐระหว่างประเทศเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีหน้าที่ 11 ประการ เช่น พิจารณาจัดทำร่างแผนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ พิจารณาจัดทำแผนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐของประเทศไทย พิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแผนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐของประเทศไทย พิจารณากำหนดแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลตนเองประจำปี เป็นต้น