ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเสียงข้างมากในสภาฯ คือ เสียงที่จัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นอาจจะมีคำถามเกิดขึ้นได้ว่าในยามที่ต้องตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งก็คือเสียงข้างมากของตัวเองในสภาฯ นั้นสามารถทำหน้าที่และเข้าใจภารกิจของตัวเองได้อย่างแท้จริงมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นกลไกของประเทศไทยจึงใช้ระบบสองสภาฯ นอกเหนือจากมี ส.ว.มาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อรักษาระบบถ่วงดุลอำนาจ
รองประธาน สนช.กล่าวว่า ไม่ว่า ส.ว.จะที่มาอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องของการสร้างดุลอำนาจที่เหมาะสมและถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะออกแบบ ส.ว.อย่างไร จะมาจากการเลือกตั้ง มาจากการสรรหา หรือผสมทั้งสองอย่าง ถ้าวุฒิสภายังไม่สามารถทำหน้าที่ในการเป็นเครื่องการสร้างดุลอำนาจที่เหมาะสมก็คิดว่าไม่ใช่วิธีที่จะเป็นคำตอบของการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
"ไม่ว่า ส.ว.จะมาจากไหน ผมขอไปดูว่ารายละเอียดทั้งหมดที่จะได้มาซึ่ง ส.ว.ในอนาคตตอบโจทย์การสร้างดุลอำนาจหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ผมจะนำไปประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการรวบรวมความเห็นฯของ สนช.ก่อนที่จะสรุปความเห็นเพื่อส่งต่อไปให้ กรธ. ภายในต้นเดือนมกราคม 59" นายสุรชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่ กรธ.มีแนวคิดให้ตัดอำนาจการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ว.ออกไปนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะไปตัดออก แต่เชื่อว่าเหตุผลที่ กรธ.จะตัดออก เพราะดูผลงานในอดีต เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็น ส.ว.ถอดถอนใครได้เลย แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าการถอดถอนนักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่งนั้นคือโทษทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางแพ่ง หรือโทษทางอาญา ดังนั้นจะเอาตรงนี้กลับไปให้ทางศาลเป็นผู้ตัดสิน จะเป็นการดึงศาลมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ใครจะเป็นคนตอบคำถามนี้ ฉะนั้นการที่เขาออกแบบให้โทษทางการเมือง ให้ฝ่ายการเมืองจัดการกันเอง
"ผมคิดว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพียงแต่หลักการนั้นนำมาสู่การปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องไปดูว่าเป็นเพราะอะไรจึงปฏิบัติไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วมาจากการสร้างดุลอำนาจที่ไม่เหมาะสม ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ทำให้กลไกปฏิบัติไม่ได้ เพราะเดินหน้าไปก็ลูบหน้าปะจมูก เป็นพรรคพวกคนรู้จักที่อยู่ในแวดวงเดียวกันหมด จึงต้องย้อนกลับไปว่าเราแก้ที่สาเหตุแล้วหรือยัง คือ ทำอย่างไรให้การออกแบบดุลอำนาจที่เหมาะสมเกิดขึ้นได้" นายสุรชัย กล่าว