ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 448/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ลงวันที่ 3 เมษายน 2558 เนื่องจาก ป.ป.ช.ได้ส่งความเห็นให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว นั้น ผมมีความเห็นว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะเรียกร้องให้นายกยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหาย ดังนี้
1. การรับจำนำข้าวอันเป็นโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ดำเนินการในรูปแบบของคณะบุคคล (collective body) แต่งตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 153/2554 ลงวันที่ 8 กันยายน 2554 เรียกชื่อว่า "คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ" เรียกโดยย่อว่า "กขช." ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 24 คนโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับ การเสนอกรอบ นโยบาย การอนุมัติแผนงาน โครงการและมาตรการเกี่ยวกับการการผลิตและการตลาด รวมถึงการติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการและโครงการที่อนุมัติ นอกจากนี้ กขช. ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 2 ชุด รับผิดชอบงานด้านปฏิบัติการประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจำนำข้าว และ (2) คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ตามคำสั่ง กขช. ที่ 4 และ 5/2554 ลงวันที่ 12 กันยายน 2554 ทั้งสองฉบับ
2. โครงการรับจำนำข้าวดำเนินการโดยผ่านการประเมินความคุ้มค่าของของโครงการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ทั้งไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายตามที่หลายฝ่ายพยายามกล่าวหา กล่าวคือ
(1) การรับจำนำข้าวเปลือก ธกส. ได้จ่ายเงินให้กับชาวนาโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง จำนวน 878,209 ล้านบาท ส่วนการระบายผลิตผลที่ ป.ป.ช. กล่าวหาว่ามีการทุจริตนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของ "คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว" โดยมี "คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ" ทำหน้าที่ติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการและโครงการที่อนุมัติอันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในรูปของคณะกรรมการ (collective responsibility) นายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. โดยลำพังไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว
(2) ปริมาณสินค้าคงเหลือจำนวน 18.96 ล้านตัน ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีประเมินว่ามีมูลค่าสินค้าคงเหลือสุทธิจำนวน 224,346 ล้านบาท ใช้วิธีคิดโดยการหักค่าเสื่อมสภาพของสินค้าจากนั้นนำมาหักออกจากจำนวนเงินที่รัฐจ่ายให้กับชาวนาแล้วสรุปเป็นความเสียหายของโครงการซึ่งไม่ถูกต้อง หากถือตามวิธีการที่ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีคิดดังกล่าว รัฐบาลที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินใหม่ จะต้องเรียกร้องให้หัวหน้ารัฐบาลเดิมที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่รัฐบาลเดิมได้ซื้อมาซึ่งไม่ถูกต้องและไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อน ดังนั้น ปริมาณสินค้าคงเหลือจำนวน 18.96 ล้านตันที่รัฐได้จ่ายเงินให้กับชาวนาไปโดยไม่มีการทุจริต จึงไม่ถือเป็นความเสียหายของโครงการอย่างที่พยายามบิดเบือนกัน
(3) สำหรับประเด็นการระบายว่ามีการทุจริตนั้น อัยการสูงสุดได้ฟ้องคดีผู้เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว สิ่งที่ผมโต้แย้งเป็นเพียงผมไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ที่อ้างว่านายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของ กขช. ในรูปแบบคณะบุคคลดังกล่าว
3. ดังนั้น ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.ที่ว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ชอบ นอกจากนี้ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่กล่าวถึง เป็นคณะบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นโดยคำสั่งในทางบริหารเพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่หน่วยงานหรือส่วนราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 อันจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. จึงไม่ครบเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย
4. โครงการรับจำนำข้าวและนายกฯ ยิ่งลักษณ์คือเหยื่อทางการเมืองตามทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) มีการสร้างวาทกรรมทางการเมืองเพื่อใส่ร้ายโครงการ เช่น เป็นโครงการที่คิดขึ้นมาเพื่อโกงในทุกระดับ หรือเป็นโครงการที่ขาดทุนหรือสร้างความเสียหายแก่รัฐอย่างมโหฬารกว่า 500,000 ล้านบาท หรือเป็นโครงการที่บิดเบือนทำลายกลไกการตลาด เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นความเท็จโดยมีเป้าหมายทางการเมือง ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศรองรับ ผ่านการประเมินความคุ้มค่าของโครงการและแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาและไม่ได้มีความเสียหายมากมายตามที่กล่าวอ้าง ที่น่าเศร้าที่สุดคือ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นตัวการสร้างวาทกรรมเหล่านั้นเสียเอง
"จึงขอกราบเรียนท่านนายกฯ ด้วยความเคารพว่า กรุณาสั่งการให้เจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบและเป็นธรรม เพราะการใช้อำนาจของรัฐที่ปราศจากความเที่ยงธรรม หรือมิได้เป็นไปตามหลักนิติธรรม จะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างไม่รู้จบ การอำนวยความยุติธรรมเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งการยอมรับและเกิดความปรองดองในที่สุด"