ส่วนกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) เสนอประเด็นการตรวจสอบทรัพย์สินบุคคลที่มีความร่ำรวยในประเทศนั้น นายวิษณุ กล่าว่า รู้เรื่องนี้จากข่าวแต่ยังไม่ได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องให้กรมสรรพากรไปดูในรายละเอียด ไม่ใช่เรื่องที่อ่อนไหว เพราะทุกคนมีหน้าที่ในการเสียภาษี เพื่อเอาเงินเข้ามายังแผ่นดิน ส่วนสูตรการคำนวณจะออกมาเป็นอย่างไร จะคล้ายกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ต้องรอให้กรมสรรพากรดำเนินการพิจารณาก่อน ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจากการหารือกับกรมสรรพากรก็ยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้
ส่วนข้อเสนอแนะและแนวทางการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลที่ส่งไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องรอให้ทาง สปท.สรุปแนวทางการปฏิรูปในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ก่อน ว่าจะมีแนวทางในด้านใดบ้าง จากนั้นรัฐบาลจึงจะเสนอแนวทางปฏิรูปเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน แต่รัฐบาลก็จะมีการเตรียมการจัดทำแนวทางปฏิรูปประเทศไว้ด้วย
ขณะที่บางฝ่ายมองว่าการปฏิรูปเป็นไปอย่างล่าช้านั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ก็ยังดำเนินการไปตามขั้นตอนที่สามารถจะทำได้ เพราะยังมีปัญหาใน 4 ด้าน คือ 1.ทัศนคติของคนที่มีความเคยชินและรู้สึกอึดอัดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง 2.ต้องใช้เวลาในการออกกฎหมาย 3.ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ และ 4.ต้องใช้คนที่มีความรู้ในการดำเนินการปฏิรูป ดังนั้นเมื่อจะดำเนินการปฏิรูป ก็ต้องค่อยๆแก้ปัญหาทั้ง 4 ด้าน
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลได้รับข้อเสนอมา ก็จะนำส่งต่อไปยังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่น่าจะเป็นช่วงหลังเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีหลายประเด็นที่รัฐบาลจะเสนอแนะ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นภาระในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล แต่ไม่ใช่เป็นประเด็นทางการเมือง อาทิ มาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ถูกควบคุมตัวขณะเตรียมเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยระบุว่า ไม่ใช่สายงานที่เกี่ยวข้องกับตนเอง