แต่สำหรับผู้ที่เคยถูกจำคุก มีความผิดทางอาญา จะต้องถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งจนกว่าจะพ้นโทษมาแล้ว 10 ปี และหากเป็นคดีทุจริตจะถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ซึ่งขณะนี้กรธ. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะครอบคลุมไปถึงผู้ที่เคยถูกจำคุกจากในคดีทางการเมืองหรือไม่
นายมีชัย ยอมรับว่าการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. จำนวน 17 ข้อ ไม่ได้แก้ไขปัญหาทุจริตได้ทั้งหมด เพราะต้องมีกลไกอื่นๆมาประกอบเพื่อให้การเลือกตั้งปลอดการทุจริตได้ แต่การกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นไว้เช่นนี้ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า บุคคลที่จะเข้าไปเป็นผู้แทนที่มีความสุจริต
ส่วนบุคคลที่ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีทุจริตก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป เพราะเป็นความผิดที่ชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นหากบุคคลใดไม่มั่นใจในคุณสมบัติให้เป็นอำนาจของ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้พิจารณา
อนึ่ง สำหรับบุคคลที่ถูก สนช. ลงมติถอดถอนไปแล้วเกี่ยวกับคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ประกอบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาที่มา สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ขณะนี้คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ กำลังพิจารณาจำแนกกลุ่มที่มาของ ส.ว. ซึ่งคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุม กรธ. ได้ในวันพรุ่งนี้ (2ธ.ค.) ขณะที่คุณสมบัติของส.ว. ก็จะมีข้อห้ามที่เข้มข้นมากกว่า ส.ส. และคณะรัฐมนตรีจะมีข้อห้ามมากที่สุด