ทั้งนี้ ขั้นตอนของการเลือกกันเอง ยังมีความคิดว่าควรมีมาตรการไม่ให้เกิดการฮั้วกันของผู้สมัคร โดยอาจกำหนดให้ผู้สมัครไม่สามารถเลือกบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน เช่น ผู้สมัคร ส.ว.ในกลุ่มสตรีจะเลือกคนในกลุ่มตัวเองไม่ได้ ต้องเลือกกลุ่มอื่น เป็นต้น แต่ กรธ.ยังต้องนำมาหารือกันอีกครั้ง
"ส่วนตัวคิดว่าการให้เลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นมา ไม่ได้เป็นการทำให้เป็น ส.ว.เลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญในอดีต เพราะในขั้นตอนสุดท้ายของการเลือกกันเอง ไม่มีทางที่จะได้รู้บุคคลที่มาจากจังหวัดไหนบ้างจะได้เป็น ส.ว." นายอุดม กล่าว
โฆษก กรธ.กล่าวว่า ขณะเดียวกัน กรธ.ได้พิจารณาเพิ่มหลักการเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เห็นว่าควรให้ ส.ว.มีอำนาจกลั่นกรองและยับยั้งร่างกฎหมายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการพิจารณากฎหมายในวุฒิสภาลดลงเหลือเพียง 2 วาระ จากเดิมย 3 วาระ โดย 2 วาระดังกล่าว คือ การพิจารณาเป็นรายมาตราภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว และการให้ความเห็นชอบ ข้ามขั้นตอนวาระการรับหลักการ ขณะที่ ส.ว.ยังคงมีอำนาจแก้ไขถ้อยคำตามในร่างกฎหมาย แต่ไม่สามารถแก้ไขเกินกว่าหลักการที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบมาได้
"เราเชื่อว่าจะช่วยให้การทำงานของ ส.ว.เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะเท่าที่ผ่านมาวุฒิสภาจะดำเนินการตรวจสอบล่วงหน้าก่อนอยู่แล้วจะมีร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาบ้าง ก่อนมอบหมายให้คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาไปดำเนินการศึกษาและทำความเห็นส่งมาให้วุฒิสภาพิจารณา จึงเห็นว่าวุฒิสภาไม่มีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาในวาระที่ 1" นายอุดม กล่าว
ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ กรธ.เห็นว่าหากจะมีการดำเนินการแก้ไขกฎหมายขององค์กรใด ผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) ร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวเท่านั้น โดย ครม.จะไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายนั้นได้เพียงลำพัง เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระ จากนั้นจะดำเนินการส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อทั้งสองสภาพิจารณาเสร็จแล้ว องค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะต้องทำความเห็นว่ามีประเด็นใดในร่างกฎหมายบ้างที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน หากเห็นว่ามีปัญหาจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่ถ้าไม่มีประเด็นปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีที่ลดขั้นตอนการพิจารณากฎหมายในชั้นวุฒิสภาเหลือแค่ 2 วาระ จะไม่ส่งผลให้วุฒิสภามีสภาพเป็นตรายาง เพราะอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายยังมีอยู่ เช่น หากเกิดกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่าร่างกฎหมายใดมีความบกพร่องก็ดำเนินการแก้ไข หรือลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายได้
ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้องค์กรใดมาเป็นผู้วินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย แต่จะไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน