"แม้ว่าจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีอยู่แล้ว แต่ท่านนายกฯ กำชับให้ไปหาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินที่สามารถวัดผลและตรวจสอบได้จริงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และประชาชนผู้รับบริการ หากมีการร้องเรียนถึงปัญหาเกิดขึ้นและผลการตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือปฏิบัติงานขาดประสิทธิภาพ ให้ลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดหรืออาจพิจารณาปรับย้ายให้เกิดความเหมาะสมทันที จะไม่ปล่อยให้การประเมินเป็นเพียงแค่กระดาษใบเดียว" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ ก.พ. และ ก.พ.ร. บรรจุไว้ในข้อเสนอการประเมินนั้นจะต้องครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการประเมินความประพฤติส่วนตัว การควบคุมบังคับบัญชาหน่วยงาน ตลอดจนผลการปฏิบัติงานและต้องสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น วิสัยทัศน์และประสิทธิภาพ การทำงานเชิงรุก ความพึงพอใจของประชาชน การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่จะต้องพยายามแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างให้สำเร็จโดยเร็วด้วยการสร้างความร่วมมือกับประชาชน เพื่อพิจารณาว่าปัญหาคืออะไร มีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้อง และจะแก้ไขอย่างไร โดยไม่ผลักให้เป็นภาระของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว
"ปัญหาใดที่ซับซ้อนก็จะต้องบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาข้อยุติ และหากติดขัดในข้อกฎหมายให้เสนอเรื่องผ่านกระทรวงขึ้นมา รัฐบาลและ คสช.พร้อมที่จะแก้ไข นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทั้ง 2 หน่วยงานเร่งจัดทำแนวทางการประเมินใหม่ เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนธันวาคมนี้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว