ทั้งนี้ อยากขอร้องให้ทุกฝ่ายรวมถึงนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ที่จะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์นั้นหากต้องการตรวจสอบจริงก็สามารถส่งเรื่องมายัง ศอตช.หรือคณะกรรมการตรวจสอบที่กระทรวงกลาโหมตั้งขึ้นโดยไม่ต้องห่วงว่าเรื่องจะเงียบหาย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปตรวจสอบด้วยตัวเอง เพราะการทำแบบนี้ไม่แน่ใจว่าต้องการหวังผลในเรื่องอื่นหรือไม่
"หากบริสุทธิ์ใจจริงก็เชิญมาที่หน่วยงานของราชการ คิดว่าระบบที่ผมวางไว้มา 1 ปี น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร้องเรียนได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาเป็นประเด็นหรือนำมาเป็นกระแสอะไรมากมาย ก็ให้คณะทำงานเขาคุยกัน บางเรื่องอาจเป็นการเข้าใจผิด แต่การใช้ระบบเช่นนี้จะไม่สร้างปัญหา...สำหรับกรณีนักศึกษาก็จะกลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสมขึ้นมา เพราะ คสช.ก็ต้องมีกฏเกณฑ์ กฎหมาย และระเบียบ รัฐบาลชุดนี้มีทิศทางการตรวจสอบที่ชัดเจน ขอให้มั่นใจว่าเราทำงานกันเต็มที่"พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐบาล ทั้ง สตง.และ ป.ป.ท. พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองหน่วยงานได้รายงานมาว่า กองทัพบกได้ตอบรับมาแล้ว ซึ่งปลัดบัญชีกองทัพบกได้ให้ความร่วมมืออย่างดี และหลังจากนี้จะมีการชี้แจงเป็นระยะๆ แต่ตนเองจะไม่ไปกำหนดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งขณะนี้ถือเป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดูข้อมูลตามหลักฐาน เมื่อหน่วยใดสงสัยว่าจะมีการทุจริตก็จะมีการตรวจสอบภายในหน่วยงานของตัวเอง และหน่วยงานอิสระสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังทั้ง 2 อย่าง
"ไม่เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น ไม่เข้าใจระบบการตรวจสอบหรืออย่างไร หากกระทรวงกลาโหมตรวจพบว่ามีการทุจริตจริง ก็จะส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช. สตง. ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว การตรวจสอบการทุจริตที่ผ่านมาใช้เวลานานกว่า 2 ปียังตรวจสอบไม่เสร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่าการตรวจสอบครั้งนี้จะใช้เวลานาน แต่ขอให้มีการตรวจสอบไปตามระบบ หากพบความไม่ชอบมาพากลก็สามารถร้องเรียนได้ และขอร้องว่าอย่าทำให้ประชาชนเกิดความสับสน"พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว