"กฎหมายทุกอย่างที่นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ไม่ใช่จบจากคณะรัฐมนตรีแล้วประกาศเป็นกฎหมายได้เลย...ต้องผ่านการตรวจสอบในประเด็นข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นต้องเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาอีก 3 วาระ บางกฎหมายใช้เวลาเกือบ 2 ปี" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนที่จะได้ข้อยุติจะต้องให้ผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันได้ชี้แจงจนเกิดความชัดเจน กฎหมายไหนมีข้อดีมากกว่าข้อเสียก็ต้องหาทางอุดช่องโหว่ที่เป็นข้อเสียเอาไว้ แต่ถ้ามีข้อเสียมากกว่าข้อดีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะไม่ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว
"กฎหมายนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำจีเอ็มโอ เป็นกฎหมายที่ต้องการกำหนดหลักเกณฑ์กติกาที่จะควบคุมความปลอดภัยของการตัดแต่งพันธุกรรมในพืชและสัตว์อย่างไร วันนี้ต้องยอมรับว่ามีผลผลิตที่เป็นจีเอ็มโอมาขายในประเทศไทยแล้ว แล้วเราจะมีวิธีการควบคุมอย่างไรที่จะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคน สัตว์ พืชในประเทศ มีขั้นตอนละเอียดยิบกว่าจะนำออกขายได้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า กฎหมายนี้อาจเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถทำจีเอ็มโอได้ แต่ต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน และต้องมองวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายที่ต้องการควบคุมสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ให้ได้รับผลกระทบกับสิ่งที่มีอยู่
"รัฐบาลได้พิจารณาแล้วว่าเรื่องนี้ถกเถียงกันมานานแล้ว ถ้าเราไม่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา มันจะได้ข้อยุติอย่างไร...ถ้ามันดีในที่สุดก็ผ่าน ถ้าไม่ดีก็ไม่ผ่าน อย่าเพิ่งตีโพยตีพายกันไปก่อน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว