"กรธ.เห็นว่าควรให้อภิปรายได้ทั้งนายกฯและคณะรัฐมนตรี (ครม.) และไม่จำเป็นต้องยื่นกับป.ป.ช. เพราะถ้าหากมีการกล่าวหาว่ามีการทุจริต โดยหลักการต้องไปยื่นต่อป.ป.ช.อยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ก็มีการตั้งประเด็นปัญหาว่าหากเสียงฝ่ายค้านไม่ถึง 1 ใน 5 ในการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะทำอย่างไร จึงจะให้ผู้นำฝ่ายค้านสามารถเสนอรัฐบาลเปิดประชุมนัดพิเศษ เพื่อเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลมากกว่าการติติง แต่กำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะผู้นำฝ่ายค้านสามารถอภิปรายแต่เพียงผู้เดียว เพื่อไม่ให้บาดหมางน้ำใจกัน ซึ่งสามารถอภิปรายได้เพียง 1 ครั้ง แต่จะเป็นสมัยนิติบัญญัติหรือสมัยสามัญทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมกันทำงานเพื่อบ้านเมืองให้เกิดความปรองดอง โดยยืนยันว่ากระบวนการนี้ไม่ได้ทำให้การตรวจสอบฝ่ายบริหารลดลง"นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวถึงการเขียนคุณสมบัติบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ และครม.ว่า เบื้องต้นมีความตั้งใจที่จะเขียนคุณสมบัติให้เข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิมเหมือนที่เราเขียนคุณสมบัติของส.ส.ไว้เข้มข้น ส่วนจะมีการเพิ่มสิ่งใดไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดให้มีสิ่งใดบ้าง ขณะที่ที่มาของส.ว.นั้น เหตุผลที่เราพิจารณานานกว่าประเด็นอื่น เนื่องจากเราต้องการให้ส.ว.มีที่มาโดยครอบคลุมทุกกลุ่มเพื่อเกิดความหลากหลายในการทำงาน ส่วนจะแบ่งออกเป็นกี่กลุ่มและมีกลุ่มใดบ้าง ขณะนี้ทางอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดก่อนที่จะนำมาเสนอให้กรธ.ได้พิจารณาอีกครั้ง
ส่วนการจะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนไม่ถูกฉีกอีก นายมีชัย กล่าวว่า ความหวังไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญแต่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ข้อ คือ 1.การศึกษาที่จะทำให้คนมีวินัย และ2. องค์กรทั้งหลายที่บังคับใช้กฎหมาย ถ้าทำอย่างตรงไปตรงมาเข้มงวดรัฐธรรมนูญก็อยู่ได้ยาว ถ้า 2 ข้อทำไม่สำเร็จก็จะเกิดเรื่องขึ้นอีก โดยขณะนี้ตนยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนกลไกใดเพื่อป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีคนเสนอว่าควรจะต้องเขียนไว้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีแรงกดดันกับรัฐบาลจะส่งผลกระทบต่อการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คงไม่ เพราะกรธ.มีเวลาทำงานชัดเจนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องทำให้เสร็จตามกรอบเวลา