"ฮุนเซน"เยือนไทย 18-19 ธ.ค.พร้อมร่วมประชุม ครม.ไม่เป็นทางการ

ข่าวการเมือง Monday December 14, 2015 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ตามคำเชิญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 18 ธ.ค.58 และเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย-กัมพูชา อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ธ.ค.58

การเยือนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการครบรอบ 65 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย– กัมพูชา และเพื่อกระชับความความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดหารือทวิภาคีในช่วงเช้าของวันที่ 18 ธ.ค.58 โดยประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือ ได้แก่ กิจกรรมฉลอง 65 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – กัมพูชา ความร่วมมือในการพัฒนาบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ความร่วมมือด้านแรงงาน การส่งเสริมการค้าและการลงทุนความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร การเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางคมนาคม และความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะกล่าวปาฐกถากับภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับการลงทุนในกัมพูชา ซึ่งจัดโดยสมาคมมิตรภาพไทย – กัมพูชา ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา โดยจะมีคณะผู้แทนภาคเอกชนกัมพูชาที่ร่วมเดินทางมากับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเข้าร่วมพบปะและสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชนไทย และในตอนค่ำ นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงคณะของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

ส่วนในวันที่ 19 ธ.ค.58 นายกรัฐมนตรีทั้งสองจะเป็นประธานร่วมในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 2 โดยการหารือจะครอบคลุมลู่ทางในการขยายความร่วมมือ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามเอกสาร 4 ฉบับ ได้แก่ (1) แถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้นในด้านสำคัญต่าง ๆ (2) บันทึกความเข้าใจเพื่อการพัฒนาจุดผ่านแดนแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน จ.สระแก้วในฝั่งไทย และที่สตึงบท จ.บันเตียเมียนเจยในฝั่งกัมพูชา (3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการ ความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และความร่วมมือด้านการจ้างงาน และ (4) ข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้การจ้างงานมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ