ทั้งนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย กมธ.ปฏิรูปการเมือง ชี้แจงว่า ในส่วนการได้มาซึ่งนักการเมืองที่ดีนั้นจะกำหนดกลไกการตรวจสอบนักการเมืองให้เข้มข้น ตั้งแต่การรับสมัคร โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นต้องแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ในการลงสมัคร การให้ยกเลิกส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเป็นที่ซ่องสุมกลุ่มการเมือง นายทุนที่จ่ายค่าหัวให้นักเลือกตั้ง ไม่ตอบโจทย์การเป็นที่มาของคนดี มีความสามารถ
ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี กมธ.มีความเห็นไม่ต่างจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้ แต่กรณีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ส.ส.ต้องมีเสียงรับรองจากส.ส.ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ กมธ.การเมือง กล่าวว่า ในส่วนการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้น กมธ.เห็นว่าต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง รวดเร็ว เห็นผลจริง ได้แก่ การตัดสิทธิไม่ให้ลงเลือกตั้งตลอดชีวิต การกำหนดโทษทางอาญาที่รุนแรงตั้งแต่ 1-10 ปี ไม่มีอายุความ เพื่อให้คนเกิดความเกรงกลัว การให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบการทุจริตเลือกตั้งของผู้สมัครพรรค หากหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทำผิดเอง จะถูกห้ามยุ่งเกี่ยวการเมืองตลอดชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นนอมินีชักใยอยู่เบื้องหลัง หากพบว่าอยู่เบื้องหลังการเมืองจะต้องโทษจำคุก 10 ปี
ส่วนการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุทุจริตเลือกตั้ง ต้องให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองนั้น รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยบังคับใช้กฎหมายได้จริง ซึ่งครั้งนี้ต้องทำให้ได้จริง แม้ล้มละลายก็ต้องทำ ส่วนกลุ่มทุนที่แจกเงินให้พรรคการเมือง โดยไม่ถูกต้อง จะมีโทษจำคุก 1-10 ปี และมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งกมธ.อยากให้มาตรการเหล่านี้สัมฤทธิ์ผลก่อนการเลือกตั้ง