"เราพบว่า ที่ผ่านมาถึงจะห้ามผัวเมียมาเป็น ส.ว.ก็สามารถไปหย่ากันเพื่อมาเป็น ส.ว.ซึ่งดูแล้วทุเรศทุรัง เขียนในรัฐธรรมนูญก็อายเขาไปทั้งโลกว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมความเป็นผัวเมียต้องเป็นแบบนี้ เมื่อกลไกการเลือก ส.ว.ไม่ได้อาศัยกลไกพรรคการเมือง ความได้เปรียบในฐานะที่มีผัวหรือเมียอยู่ในสภาหรือมีพ่อแม่อยู่ในสภาก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นทุกคนสามารถใช้สิทธิของเขาและถึงแม้เข้ามาก็ไม่สามารถทำอะไรได้" นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ.กล่าวว่า การไม่ห้ามเรื่องสภาผัวเมีย เพราะมุมมองของ ส.ว.เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้มีอำนาจในการถอดถอนแล้วมันจะกลายเป็นสภาที่มีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์หลากหลายสาขา ดังนั้น แต่ละคนจะมองในแง่ของสาขาวิชาชีพ โดยไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง ขณะที่ข้อกังวลของการใช้อิทธิพลทางการเมืองครอบงำ ส.ว.ที่เป็นผัวเมียต่อการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ อยากขอถามว่าในอดีตมีสักกี่คน แต่หากเขียนคุณสมบัติเรื่องห้ามผัวเมียเอาไว้ ก็จะดูชอบกล และจะไปขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนของเขาหรือเปล่า
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการให้ ส.ว.เป็นสภาผัวเมียถือเป็นอันตรายต่อการเมืองนั้น นายมีชัย กล่าวว่า กรณีนั้นกลไกต่างๆไม่เหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าหากมีเสียงร้องออกมากว่าให้ห้ามมีสภาผัวเมียก็จะไปปรับแก้ไขใหม่ก็ได้
ประธาน กรธ.กล่าวว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอดีต ส.ว. สามารถลงสมัคร ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ห้ามไว้ ห้ามเฉพาะ กรธ.ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เป็นเวลา 2 ปี
ทั้งนี้ ในส่วนของอดีต ส.ว.หากไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็คงจะห้ามเขายากเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดดังกล่าวที่ประชุม กรธ.ยังไม่ได้มีการหารือ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการกำหนดให้เป็น ส.ว.ได้เพียงสมัยเดียวทั้งชีวิต ซึ่งจะมีบทย้อนหลังหรือไม่จะมาพิจารณากันอีกที ทั้งนี้ กรธ.ได้พิจารณาและวางหลักการให้เป็น ส.ว.ได้ครั้งเดียว จากนั้นจึงเฉลี่ยไปให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมบ้างเพื่อป้องกันการผูกขาด ส่วนกรณีนี้จะโยงเข้ากับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.มาแล้วหรือไม่ ถือว่ามีความก้ำกึ่ง ซึ่งจะต้องไปคุยกันดูอีกที