นายกฯ วอนชาวสวนยางไม่ออกมาชุมนุม ยันรัฐจะดูแลไม่ให้ราคาต่ำไปมากกว่านี้

ข่าวการเมือง Saturday January 9, 2016 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยราคายางให้กิโลกรัมละ 50-60 บาทว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง และรู้สึกไม่สบายใจหากพี่น้องเกษตรกรจะออกมาชุมนุมกดดันรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และไม่ใช่หนทางที่แก้ปัญหาได้จริง
"รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจ่ายเงินชดเชยตามที่ร้องขอ เพราะเมื่อคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วอาจต้องใช้เงินถึง 140,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุวนเวียนไม่รู้จบ รัฐบาลยังมีภาระที่ต้องดูแลเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ทั้งชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ และประชาชนอีกกว่า 70 ล้านคน จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรเปิดใจรับฟังและแก้ไขปัญหาร่วมกัน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พร้อมระบุว่า นายกฯ และรัฐบาลมีความเห็นใจและห่วงใยชาวสวนยางเสมอ โดยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งตัวแทนจากทุกฝ่าย ทั้งพี่น้องเกษตรกร กลุ่มผู้ซื้อยาง เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือจนได้แนวทางที่ชัดเจนไปแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ม.ค.59 แต่อยากเรียกร้องให้เกษตรกรเข้าใจด้วยว่า ปัญหาราคายางตกต่ำนั้นเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกทำให้ยางสังเคราะห์ราคาต่ำฉุดให้ราคายางพาราตกต่ำไปด้วย ปริมาณผลผลิตที่ล้นตลาด ซึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมให้มีการปลูกยางเกินกว่าที่ควรจะเป็นในอดีตที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีพี่น้องชาวสวนยางหลายรายที่ปรับเปลี่ยนแนวคิด หันไปปลูกพืชชนิดอื่นหรือเลี้ยงสัตว์ เสริมจากการทำสวนยางเพียงอย่างเดียวจนได้ผลมีรายได้เป็นที่น่าพอใจ จึงอยากให้เกษตรกรที่ยังประสบปัญหา นำกลับไปคิดและลงมือทำในแบบเดียวกัน รัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนมาตรการช่วยเหลือ เรื่องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ เช่น การสร้างถนนหรือทำพื้นสนามกีฬานั้น พยายามเร่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่การก่อสร้างมีกระบวนและขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอความร่วมมือพี่น้องชาวสวนยางไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยยืนยันว่าจะเร่งบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการควบคุมราคาไม่ให้ต่ำลงไปกว่านี้ และหาโอกาสปรับราคาให้สูงขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมกับแบ่งสัดส่วนการรับซื้อยางจากพี่น้องเกษตรกรให้กับกลุ่มผู้ซื้อยางทุกราย รองรับผลผลิตทั้งหมดประมาณ 8 แสนตัน ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนก่อนถึงฤดูปิดกรีด และขับเคลื่อนมาตรการสำคัญ 16 โครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ