อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประชาชนจะสามารถยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้นั้น จะต้องให้อัยการสูงสุดพิจารณาภายใน 30 วันก่อน หากอัยการสูงสุดพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรืออัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง ประชาชนถึงจะยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้
"สาเหตุที่อัยการสูงสุดมีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองก่อน เพราะไม่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีภาระมากเกินไป ซึ่งอัยการสูงสุดมีหน้าที่ตรวจสอบข้อสอบข้อเท็จจริง" นายอุดม กล่าว
โฆษก กรธ. กล่าวว่า โทษของการยุบพรรคการเมืองในฐานะที่เป็นผู้กระทำผิดยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะไปในบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ขณะเดียวกันหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดก็สามารถนำไปดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาได้ต่อไป
โฆษก กรธ. กล่าวว่า เหตุผลที่ กรธ.นำกรณีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในนามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ไปไว้ในหมวดของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 จะถูกบัญญัติไว้ในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เวลามีปัญหาก็ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาทำหน้าที่ชี้ขาด ดังนั้น กรธ.เห็นควรนำไปไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น นายอุดม กล่าวว่า การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ซื้อโฆษณาลงในพื้นที่สื่อมวลชนต้องเปิดเผยการใช้งบประมาณ ไม่ได้มีเจตนาจะแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน แต่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐแสดงความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ เพราะ กรธ.วางหลักประกันให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพเหมือนกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
ส่วนที่กำหนดให้สื่อของรัฐมีสิทธิและเสรีภาพเหมือนกับสื่อของเอกชน แต่ให้สื่อของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจและวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน จะถือเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงสื่อของรัฐจนกลายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องมองในหลายแง่มุม โดยอาจมองได้ว่าในเมื่อสื่อของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์งานของรัฐก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่ในอีกแง่หนึ่งฝ่ายการเมืองในฐานะผู้ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลก็ไม่สามารถแทรกแซงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สื่อของรัฐได้ เนื่องจาก กรธ.ได้รับรองให้สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือรัฐมีเสรีภาพ
สำหรับการวางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการสร้างความเกลียดชังในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ตรงนี้จะครอบคลุมไปถึงการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคงไปกำหนดรายละเอียดมากไม่ได้ แต่ กรธ.มองการพาดข่าวด้วยใช้ภาษาบางภาษาเป็นส่วนเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เพียงแต่การใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมายดังกล่าวก็ไม่ควรมีลักษณะยั่วยุเท่านั้น