สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือ กำหนดให้วิธีพิจารณาคดีการค้ามนุษย์ให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็วตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาตามมาตรา 6 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้,
กำหนดให้การสั่งปล่อยชั่วคราวจะต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีและภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ และในกรณีที่เป็นคำสั่งของศาลหากมีการสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเจ้าพนักงานหรือบุคคลซึ่งจะต้องรับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งได้ด้วย,
กำหนดให้ในการสืบพยานก่อนฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดี หากมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจนำพยานมาเบิกความในศาลได้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร ศาลอาจอนุญาตให้พยานดังกล่าวเบิกความที่ศาลอื่นหรือสถานที่ทำการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่นซึ่งอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้,
กำหนดให้ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.นี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้รับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพาษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาใช้บังคับ,
กำหนดให้จัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีค้ามนุษย์ที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.นี้,
กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีค้ามนุษย์ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง,
นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจรับฎีกาเมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา หรือซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน หรือขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่นหรือเพื่อเป็นการพัฒนาตีความกฎหมาย
หรือเมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ให้ประหารชีวิต หรือเมื่ออัยการสูงสุดลงลายมื่อชื่อรับรองในคำฟ้องฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย หรือปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้พิจารณา ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น