สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการแก้ไขเนื่องจากกรธ.เห็นว่าตามปกติแล้ว หากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกฝ่ายความมั่นคงก็สามารถขอดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อยู่แล้ว กรธ.จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนำเรื่องการขอตรวจสอบข่าวสารในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีก อย่างไรก็ตาม หากเป็นในภาวะสงครามหรือการรบยังสามารถขอตรวจข่าวสารก่อนเผยแพร่ได้ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
"ยืนยันว่า ที่แก้ไขใหม่ไม่ได้มาจากแรงกดดันจากภายนอก เพราะคณะ กรธ.ยืนยันในหลักการ เรื่องการให้สื่อมวลชนมีสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว" โฆษก กรธ.ระบุ
ทั้งนี้ สำหรับบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน ตามที่ คณะกรธ.ได้มีการปรับแก้ไขใหม่จะอยู่ในมาตรา 35 มีทั้งสิ้น 6 วรรค ดังนี้
มาตรา 35 บุคคลซึ่งประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้
การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ในระหว่างที่เป็นประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้ หน่วยงานของรัฐที่ใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้สื่อมวลชน ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเปิดเผยรายละเอียดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบตามระยะเวลาที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด และให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินประกาศให้ประชาชนทราบด้วย
เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่
นอกจากนี้ กรธ.ได้เห็นชอบเนื้อหาเกี่ยวกับแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยเพิ่มเติมสาระสำคัญคือ การกำหนดหลักการให้คลื่นความถี่ และสิทธิในวงโคจรของอุปกรณ์สื่อสารเป็นสมบัติของรัฐ ในการจัดการให้มีและการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่หรือวงโคจรดังกล่าว ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ และรัฐพึงจัดให้องค์กรที่เป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เข้ามารับผิดชอบดำเนินการในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจร
นายชาติชาย กล่าวว่า หลักการนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้ให้บริการโดยมิชอบ เช่น เมื่อประมูลคลื่นความถี่แล้วแต่กลับคิดราคาแพงกับผู้ใช้บริการ ตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่จะมีผลในการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวว่า คลื่นความถี่ และวงโคจรของดาวเทียมถือเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ เอกชนจะไปครอบครองถือเป็นของส่วนตัวไม่ได้ แต่อาจจะรับสัมปทานเพื่อและกับผลประโยชน์ตอบแทนเข้ารัฐเป็นระยะเวลาหนึ่ง ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเปิดทางสู่การเปิดทางสู่การเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารนั้น ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เพราะการที่กรธ.ระบุตรงนี้เพื่อต้องการยืนยันในหลักการว่าคลื่นความถี่และวงโคจรเป็นสมบัติของชาติเท่านั้น