กรธ. กำหนดให้ส.ว.มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี สมัครได้ครั้งเดียว/ปิดประตูสภาผัว-เมีย

ข่าวการเมือง Wednesday January 13, 2016 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ได้พิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โดยเห็นชอบให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเองจากกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจำนวน 20 กลุ่ม มีวาระดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี และเป็นส.ว.ได้ครั้งเดียวเท่านั้น โดยเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะไม่สามารถกลับมาเป็น ส.ว.ได้อีกตลอดชีวิต

ทั้งนี้ กรธ.เห็นว่า การให้ ส.ว.มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีจากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ให้มีวาระ 6 ปี เพราะปัจจุบันโลกและความรู้ได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมองว่า ควรให้มีการสลับสับเปลี่ยนบุคคลอื่นๆ มาเป็น ส.ว.บ้าง ประกอบกับวาระ 5 ปีของ ส.ว.ที่ กรธ.กำหนดขึ้นมาก็ไม่ได้ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติเกิดภาวะสุญญากาศ เช่นเดียวกับการให้เป็น ส.ว.ได้ครั้งเดียวในชีวิต เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นสภาพลเมือง จึงควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความหลากหลายมีโอกาสสลับกันเข้ามาทำหน้าที่

ที่สำคัญ กรธ.ไม่ให้บุคคลที่เป็นบุพการี คู่สมรส บุตรของผู้ที่เป็น ส.ส., ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น จะลงสมัคร ส.ว.ไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเดิม กรธ.กำหนดให้เครือญาติของ ส.ส.ลงสมัคร เพราะมองในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะจากนิด้าโพลที่พบว่าประชาชน 60% ไม่เห็นด้วยกับการให้เครือญาติของนักการเมืองลงสมัคร ส.ว. ทำให้ กรธ.ต้องแก้ไขตามความคิดเห็นของประชาชน

"เป็นการยืนยันว่าจะต้องการให้ผู้มาสมัคร ส.ว.มีอิสระจริงๆ ป้องกันการยกโขยงเข้ามาสมัคร อย่างอำเภอหนึ่งมาสมัครกันเป็นตระกูล ประกอบกับมีการวิจัยพบว่าสังคมไทยเป็นสังคมพรรคพวก สังคมญาติโกโหติกาค่อนข้างสูง ทำให้ กรธ.ต้องปรับแก้ไข เพราะมิเช่นนั้นอาจเป็นการสร้างอาณาจักรทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย" นายชาติชาย กล่าว

นอกจากนี้ กรธ.ยังได้กำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของ ส.ว.ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีการขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของวันประชุมในแต่ละสมัยประชุม เป็นต้น และหาก ส.ว.ไม่วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ไป ยอมให้ตนเองอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด จะเป็นผลให้ ส.ว.ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกสภาพการเป็น ส.ว.เช่นกัน ซึ่งสามารถร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติได้ แต่จะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ