ประธานกรธ.ยันระบบเลือกตั้งใหม่ไม่ทำการเมืองแตกแยกหรืออ่อนแอ, ปัดเพิ่มอำนาจศาลรธน.

ข่าวการเมือง Thursday January 14, 2016 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณาหมวดรัฐสภา ในเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. โดย กรธ.ยืนยันในหลักการที่จะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเหมือนเดิม และยืนยันว่าหลักการนี้ไม่ได้ทำให้การเมืองแตกแยกหรืออ่อนแอ และเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่มีความรุนแรง รวมทั้งยังให้ ส.ส.สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ โดยไม่ได้ห้ามเอาไว้

ประธาน กรธ.กล่าวว่า สาเหตุที่ กรธ.เห็นชอบกับการไม่ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาจากฝ่ายค้าน เนื่องจากเห็นว่าการเลือกประธานสภาฯ เป็นเรื่องของ ส.ส. ถ้า กรธ.ไปกำหนดเป็นการเฉพาะเอาไว้อย่างนั้นจะทำให้ขัดกับหลักการทั่วไป ประกอบกับการเอาฝ่ายค้านไปเป็นรองประธานฯ ก็จะเกิดการทะเลาะกัน ส่งผลให้ภาพลักษณ์องค์กรที่แย่อยู่แล้วต้องแย่ลงไปอีก ดังนั้นคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกัน กรธ.ไม่ได้กำหนดว่าฝ่ายค้านจะต้องเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญในสภาฯ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต เพราะคิดว่าเรื่องนั้นต้องไปกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่สภาฯต้องไปตกลงกันเองในอนาคต อย่างไรก็ตาม ดรธ.กำหนดเพียงว่าการตั้งคณะกรรมาธิการในสภาฯจะต้องคำนึงถึงทุกพรรค

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนการการสรรหาคณะกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรธ.ไม่ได้มุ่งเน้นและเปลี่ยนแปลงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะเปลี่ยนแปลงในทุกองค์กร โดยจะให้เป็นวิธีการและมาตรฐานเดียวเหมือนกันหมด และ ต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้จะมาดำรงตำแหน่งต้องสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นอย่างที่มีใครตั้งข้อสังเกต เพราะเดิมทีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการชี้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว เพียงแต่มีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆเพิ่มมากขึ้น ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีภารกิจมากขึ้น

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกผลักให้เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะมีบางฝ่ายไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ในอดีตเราใช้คนที่มีคุณสมบัติในทางกว้างๆ แต่ตอนนี้เราพยายามจะกำหนดคุณสมบัติที่เน้นว่าต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ในเชิงวิชาการเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดทุกอย่างจะเป็นไปตามวิชาการที่สามารถนำไปอ้างอิงได้ ส่วนคนที่มีความรู้ในด้านการบริหารราชการแผ่นดินก็จะคอยชี้แนะในทางปฏิบัติ ดังนั้นองคาพยพขององค์กรอิสระจะเปลี่ยนไปและมีมาตรฐานสูงขึ้น อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ทาง กรธ.ก็เห็นด้วยในหลักการว่าควรให้บุคคลที่เป็นศาสตราจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวมาแล้วหลายๆปีเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าได้คนที่มีความรู้ความชำนาญจริงๆ

"เราจะยกมาตรฐานให้สูงขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าในอนาคตจะไม่มีข้อกังขาในพื้นความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการในการสรรหาก็จะให้ไกลจากการเมืองให้มากที่สุด" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ.กล่าวว่า ส่วนการให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพราะเราเห็นว่าที่ผ่านมาแม้จะมีการกำหนดเอาไว้แต่รัฐธรรมนูญในอดีตไม่เคยมีการบอกว่าจะให้องค์กรไหนเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัย ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วินิจฉัย ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้อง จึงนำมาบัญญัติไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญว่าถ้าไม่มีบทบัญญัติที่จะใช้บังคับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง

ส่วนการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 7 จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นซูเปอร์องค์กรหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว มันไม่มีทางเลี่ยง จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจแต่อย่างใด เพียงแต่เขียนให้มันชัดเจนเท่านั้น ทุกอย่างจะได้จบ และเมื่อมองดูแล้วก็ไม่มีองค์กรไหนที่จะชี้ขาดได้เหมาะสมเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นยังคงให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แต่กำลังหารือกันอยู่ว่าจะสามารลดลงมาที่ 7 ปีได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเดิมทีให้ตุลาการศาลปกครองมาทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทราบกันดีว่าจะได้คนที่ไม่ค่อยเด่นดังในศาลปกครองมาทำหน้าที่ เราเลยคิดว่าถ้ามาดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญอาจจะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 75 ปี อาจจะทำให้คนเก่งๆให้ความสนใจมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ