สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น นายนรชิต กล่าวว่า พรรคการเมืองมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าวส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องไม่ซ้ำกับผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต ที่สำคัญการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจะต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วม ต้องคำนึงถึงสัดส่วนในแต่ละภูมิภาคด้วย และต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย
ขณะเดียวกัน กรธ.ยังยืนยันในหลักการเดิม คือ ถ้าเกิดมีกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.คนใดได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนของผู้ประสงค์ไม่ลงคะแนนหรือโหวตโน ผู้สมัคร ส.ส.คนนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.และจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัครทุกรายที่ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนโหวตโนจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ กล่าวคือ ถ้าพรรค ก. พรรค ข. และพรรค ค. ส่งผู้สมัคร ส.ส.แต่แพ้คะแนนโหวตโน พรรคการเมืองดังกล่าวจะต้องไปหาผู้สมัครคนใหม่มาสมัครแทน
โฆษก กรธ. กล่าวว่า ถ้าเกิดกรณีที่การเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จทุกเขต ด้วยเหตุของการทุจริตเลือกตั้งจนต้องสั่งเลือกตั้งใหม่ กรธ.จึงกำหนดว่าการคำนวณคะแนนเลือกตั้งเพื่อจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะนับเฉพาะเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งเสร็จแล้วไปก่อน ซึ่งถ้าต่อมามีการนับคะแนนครบทุกเขตแล้วเกิดมีพรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง ให้ถือว่าผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในลำดับสุดท้ายของพรรคการเมืองนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไป
"ถ้าภายหลัง 1 ปีจากการเลือกตั้ง และต่อมาจะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ในบางเขตเลือกตั้ง เพราะพบการทุจริตเลือกตั้ง กรธ.กำหนดว่าคะแนนในการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้จะไม่ถูกนำไปคำนวนเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก" นายนรชิต กล่าว
ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.นั้น นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนใหญ่ยังยืนยันตามหลักการเดิม แต่มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแบบใหม่เข้าไป ได้แก่ บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกและพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 10 ปีจะไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และนำลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครกำนันผู้ใหญ่ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่มาใส่ไว้ในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ด้วย เช่น ความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ การบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ ยาเสพติด เป็นต้น
"ขนาดกำนันผู้ใหญ่บ้านยังถูกห้าม คุณจะเป็น ส.ส.หรือมาเป็นรัฐมนตรีทำไมถึงมีลักษณะต้องห้ามน้อยกว่า เพราะฉะนั้นเราจะเพิ่มเข้าไป" นายนรชิต กล่าว
สำหรับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นายนรชิต กล่าวว่า กรธ.เห็นชอบให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน และไม่ให้คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ข้าราชการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.ในคราวเดียวกัน รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจะลงสมัคร สว.ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นที่ กรธ.ต้องพิจารณาให้รอบด้าน คือ หากเกิดกรณีเครือญาติของ ส.ว.ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.จะถือว่า ส.ว.ที่เป็นมาก่อนหรือ ส.ส.คนนั้นจะขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่
ส่วนบุคคลที่เคยถูกถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง อย่างเช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากรับโทษการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งครบ 5 ปีแล้ว จะสามารถกลับมาลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในข้อห้าม แต่ถ้ามาถูกถอดถอนภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เราไม่ใช้คำว่าถอดถอน แต่ใช้คำว่าต้องคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่งจะถือว่าไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้อีกเลย
"ต้องมองไปข้างหน้า เราไม่ได้ไปตัดสิทธิ อย่ามาบอกว่าพวกเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกันใคร เขาถูกจำกัดสิทธิจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตและยังไม่พ้น 5 ปี แต่ถ้าพ้น 5 ปีแล้วมีการเลือกตั้งและไม่ขาดคุณสมบัติก็ย่อมสามารถลงสมัครได้" นายนรชิต กล่าว
นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 3 คน จากเดิม 5 คน ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง และ กกต.ต้องประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบ
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ กรธ.ไม่ได้บังคับเอาไว้ แต่ในกรณีที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติโหวตนั้น กรธ.กำหนดเงื่อนไขว่า 1.ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ 2.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะไม่ต้องขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และ 3.ถ้ามีชื่อบุคคลใดซ้ำกันสองพรรคจะถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับการเสนอชื่อขึ้นมา ไม่เพียงเท่านี้ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯ จะต้องมาจากรายชื่อที่เสนอมาให้ กกต.ก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น จะไปเลือกบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากบัญชีรายชื่อดังกล่าวไม่ได้