ประธานกรธ. แจงเหตุห้ามเครือญาตินักการเมืองเป็นส.ว. เพราะต้องการให้มีอิสระ-เป็นที่ยอมรับ

ข่าวการเมือง Friday January 15, 2016 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวก่อนเริ่มประชุมพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในส่วนขององค์กรอิสระ มาตรา 188 ว่า การกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กรณีห้ามบุคคลที่มีบุพการี คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น กรรมการองค์กรอิสระ และผู้รับสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ในคราวเดียวกันนั้นจะไม่มีผลต่อบุคคลในการลงสมัคร ส.ส.เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้จึงไม่ทำให้เสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่หากบุคคลนั้นได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.แล้วจะมีผลต่อบุพการี คู่สมรส และบุตร ที่ดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว.ทันทีโดยจะต้องขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ว.

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ส่วนข้อห่วงกังวลหรือข้อสังเกตว่าจะเกิดความกลั่นแกล้งกันภายในครอบครัว เพราะมีบางครอบครัวพ่อไม่ถูกกกับลูกนั้น เป็นเรื่องภายในครอบครัวที่จะต้องจัดการกันเอง และแม้ว่าสามี-ภรรยาจะหย่าจากกันแล้ว แต่หากตรวจสอบพบว่าเป็นการหย่าทางการเมืองก็จะมีผลทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งเช่นกัน โดยเหตุผลที่กำหนดให้คุณสมบัติเข้มข้นเฉพาะ ส.ว. เนื่องจากต้องการให้ ส.ว.ปราศจากการเมือง และเป็นที่ยอมรับ แต่หากผู้ใดติดใจในคุณสมบัติก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยได้ และขอย้ำว่า กรธ.ไม่ได้มีการเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลักการเหมือนกับที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้

ประธาน กรธ. กล่าวถึงการพิจารณาหมวดองค์กรอิสระว่า ทุกองคาพยพจะทำหน้าที่ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ไม่มีองค์กรใดมีอำนาจเหนือสุด หากใครทำผิดประชาชนและหน่วยงานต่างๆ สามารถยื่นตรวจสอบได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่จะไม่มีการตรวจสอบพื้นฐาน แต่จะส่งเรื่องไปให้ศาลพิจารณาทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ