นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ประเด็นหลักที่มีการวิพากษ์วิจารณ์าตั้งแต่ครั้งที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังกลับมาอยู่ในร่างฉบับนี้ จึงเชื่อว่าผู้มีอำนาจต้องการเนื้อหาสาระที่หนักหนาสาหัสแบบนี้ และเห็นว่าทุกฝ่ายต้องออกมาแสดงจุดยืน เพราะปัญหาคือความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้นใครก็ตามที่ประกาศว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหา ต้องยึดหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างสัมผัสได้ เมื่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแต่กลับขัดกับหลักการประชาธิปไตย ความหวังที่จะเห็นการแก้ไขปัญหาก็จะหมดลง
นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยออกมาแสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งไม่ถือว่าเร็วเกินไป เพราะถ้ารอช้ากว่านี้เวลาอาจจะไม่ทันที่จะอธิบายให้สังคมเกิดความเข้าใจอย่างทั่วถึง
"นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องแทงกั๊กหรือเลือกยาก เพราะการเลือกระหว่างหลักการประชาธิปไตยกับท่ออำนาจของเผด็จการ ผมว่าเลือกไม่ยาก สามารถตัดสินใจได้ทันที นปช.มีความชัดเจนว่าจะรณรงค์ไม่รับ แม้จะไม่ได้มีการประชุมมีมติออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เราเห็นตรงกันว่าเนื้อหาสาระในฉบับนี้หนักกว่าของนายบวรศักดิ์ เราจึงต้องรณรงค์ไม่รับ" นายณัฐวุฒิ กล่าว
เลขาธิการกลุ่ม นปช. กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คงมีทางออกไว้แล้ว ซึ่งจะขอรอดูทางออกของรัฐบาลก่อน การเลือกตั้งที่จะมาช้า ไม่ได้มีปัญหาเท่าประชาธิปไตยไม่มาเลย และไม่มีปัญหาหากประชามติไม่ผ่านแล้วจะส่งผลให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป เพราะในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยมีความมั่นใจว่า เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว พรรคเพื่อไทยจะกลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้ง แต่การชนะเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะนำมาสู่ความพ่ายแพ้ของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจะเลือกตั้งเร็วหรือช้าไม่ใช่ปัญหา แต่มีความประสงค์ให้ผู้มีอำนาจคืนประชาธิปไตยกลับมาด้วย
"ที่พูดนี้ไม่ทราบในส่วนของพรรคเพื่อไทย แต่พูดในนาม นปช.ว่า พวกเราไม่มีปัญหาเลยกับการเลือกตั้ง ที่จะมาเร็วหรือช้า แต่ประชาธิปไตยต้องมาทันที" นายณัฐวุฒิ กล่าว
ส่วนกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช.ท้านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ดีเบตเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนั้น เพราะการอภิปรายเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุผล ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมอารยะ ไม่ว่า กรธ.จะดีเบตกับใครก็เห็นด้วยทั้งนั้น เพราะการเปิดเวทีให้ความคิดที่แตกต่างมาถกอภิปรายนั้นเป็นสัญญาณว่าบ้านเมืองนี้ยังมีพื้นที่ของความเห็นที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าผู้ร่างรับงานมาจากผู้มีอำนาจเป็นการร่างตามพิมพ์เขียวอย่างชัดเจน ไม่ได้มีอคติกับใครเป็นการเฉพาะ แต่ที่มีการเรียกคำว่าเนติบริกรนั้นเหมือนเป็นผู้รับเหมา เมื่อมีผู้รับเหมาก็ต้องมีผู้ว่าจ้าง ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นเหมือนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเอาไว้ว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ