(เพิ่มเติม) "มีชัย"เผย รธน.ร่างแรกมุ่งขจัดทุจริต-ประชาชนมีส่วนร่วมการเลือกตั้งอย่างจริงจัง

ข่าวการเมือง Friday January 29, 2016 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงการจัดทำรัฐธรรมนูญร่างแรกเสนอต่อสาธารณชน หลังดำเนินการเสร็จสิ้นในเบื้องต้น ประกอบด้วย 270 มาตรา ตั้งแต่บททั่วไปถึงบทเฉพาะกาล การทำงานของ กรธ.ยึดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เป็นกรอบในการทำงานตามมาตรา 39/1 วรรค 2 กำหนดไว้ว่าระหว่างจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟังความเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงกำหนดวิธีการทำงานแบบเปิดกว้าง รับฟังทุกรูปแบบจากทุกฝ่าย

ประธาน กรธ. กล่าวว่า การทำงานได้ยึดกรอบของมาตรา 39 ใน 10 กรอบ โดยเฉพาะกลไกที่ป้องกันการทุจริต และตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐที่มีประสิทธิภาพ จึงจะเห็นกลไกเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไปในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเน้นที่การป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง และเพื่อที่จะทำให้การเมืองไม่ใช่เป็นที่ฟอกตัวของคนที่เคยทำผิด จึงใช้หลักเดียวกับผู้ใหญ่บ้าน คือใครก็ตามที่ทำความผิดดูเหมือนจะรุนแรง หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ไม่ว่าจะถูกลงโทษหรือไม่ จะได้รับการล้างมลทินหรือไม่ คนเหล่านั้นจะไม่สามารถกลับเข้ามาการเมืองได้

"ใครก็ตามหากถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ไม่ว่าจะถูกลงโทษหรือไม่ ได้รับการล้างมลทินหรือไม่ คนเหล่านั้นจะกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกไม่ได้ ซึ่งความผิดที่เรากำหนดไว้เช่น ฐานเป็นเจ้ามือการพนัน ค้ายาเสพติด ความผิดฐานฟอกเงิน หรือความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งถ้าใครทำความผิดแบบนี้ จะกลับเข้าสู่การเมืองไม่ได้และตราบใดที่รัฐธรรมนูญปี 2557 ยังอยู่ ไม่ว่าจะต้องร่างรัฐธรรมนูญกี่ครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็จะยังอยู่" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาให้เกิดความรัดกุมมากขึ้น เช่น กำหนดหน้าที่ของรัฐบาลไว้อย่างชัดเจน เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความผาสุก อย่างเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณด้วยความรอบคอบโดยมีวินัยการเงินการคลัง, การเลือกตั้งที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การไปลงคะแนนเลือกตั้ง, กำหนดกระบวนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ชัดเจน ไม่ใช่การเพิ่มอำนาจ

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของรัฐธรรมนูญร่างแรกที่นำมาเผยแพร่นี้ยังไม่สมบูรณ์ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้หลังรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้วนำมาปรับแก้ให้สอดคล้องต้องกันอีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ.59 แต่ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติ

ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรณีที่มีการพูดกันว่า กรธ.ได้เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระให้สูงขึ้นและอ้างว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ความจริงไม่ได้เพิ่มอำนาจขององค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญจากเดิมเลย ยังคงเดิมหรือใกล้เคียงกับที่เคยมีมา เพียงแต่กำหนดกระบวนการไว้ให้ชัดเจนว่า อย่างไรเป็นเรื่องทุจริต อย่างไรเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง หรือหากเป็นมาตรฐานจริยธรรม ก็จะกำหนดว่าอย่างไหนเป็นมาตรฐานจริยธรรมที่ร้ายแรง โดยกำหนดไว้เป็นคุณสมบัติต้องห้าม หากฝ่าฝืนจะต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ เสมือนกับการเสียชีวิต เมื่อถามว่าใครจะเป็นคนชี้ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งองค์กรที่มาตรวจสอบต้องเป็นอิสระ และเป็นไปตามหลักฐานวิชาการ ไม่ใช่เป็นเรื่องการลงคะแนนเอาเสียงข้างมาก ทุกประเทศในโลกเมื่อนักการเมืองทำผิด ก็ต้องขึ้นศาล ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกประเทศ ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ได้ร่างขึ้นก็ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่น ขณะเดียวกันยังเพิ่มคุณสมบัติกรรมการในองค์กรอิสระให้สูงขึ้นและทุกองค์กรยังต้องถูกตรวจสอบกันและกัน

เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่าอะไรที่กฎหมายไม่ห้ามไว้ ประชาชนมีสิทธิทำได้ และยังเขียนห้ามออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องไม่ให้มีภาระเกินความจำเป็น ถ้าดูในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจดูน้อยลง แต่ไม่ได้ลดลง และในทางกลับกันยังเปลี่ยน ยกสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สำคัญ ไปกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐด้วย จึงได้เพิ่มหมวดหน้าที่ของรัฐ เช่นกำหนดว่า รัฐมีหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ดังนั้นเวลาอ่านเรื่องสิทธิเสรีภาพจะต้องอ่านหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐควบคู่กันไป

ส่วนกลไกการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น นายมีชัย ชี้แจงว่า กรธ.ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จึงใช้ระบบจัดสรรปันส่วน ด้วยการให้ประกาศรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีให้ประชาชนรู้ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและรับรู้ข้อมูลข่าวสารล่วงหน้าได้ตรงกันทั่วประเทศ และการจัดให้เลือก ส.ว.ทางอ้อม ก็เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาสู่อำนาจในส่วนกลางได้ โดยไม่ต้องพึ่งพานายทุน และพรรคการเมือง ดังนั้นส่วนต่าง ๆ เหล่านี้จะประกอบกันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

ประธาน กรธ. กล่าวว่า เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ขอยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญที่แจกไปยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เพราะต้องรอฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนต่างๆ ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังตามเหตุผลที่เสนอกลับมาจากทุกฝ่ายเสมอ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ ยืนยันรัฐธรรมนูญจะออกไปเพื่อใช้กับคนทั้งประเทศ ดังนั้นในการทำก็เพื่อมุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

ส่วนกรณีที่ไม่มีการตั้งสภาพลเมืองนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เพราะ กรธ.ไม่คิดจะสร้างองค์กรขึ้นมาใหม่ จึงไม่มีสภาพลเมือง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ประชาชนยังมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการมีส่วนร่วมในช่องทางต่างๆ รวมถึงความเคลื่อนไหวชุมนุมโดยสงบนั้น ยังสามารถทำได้

สำหรับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีอำนาจที่จะไปล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ การที่ คสช.ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไป เพราะจำเป็นต้องคงอำนาจไว้เช่นเดิม เนื่องจากภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น แต่อำนาจของ คสช.จะหมดไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา และไม่สามารถที่จะไปถ่ายโอนให้กับบุคคลอื่นได้ ซึ่งที่ผ่านมาตนเองยังไม่เห็นว่า คสช.จะใช้อำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรอิสระ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ