"สิ่งที่เขาเขียนมานั้นมีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อ ดูแล้วก็ไม่ได้เนื้อ เช่น บอกว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม สิ่งเหล่านี้ กรธ.ได้เขียนเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมได้เขียนไว้ด้วย ทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง, การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมไว้แล้ว ขณะนี้จึงไม่ทราบว่าต้องเขียนอะไรเพิ่มเติมตรงใดอีกบ้าง" นายมีชัย กล่าว
สำหรับเสียงท้วงติงที่ฝ่ายการเมืองมองว่าร่างรัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและพรรคการเมืองอ่อนแอนั้น ประธาน กรธ. กล่าวว่า อ่อนแอตรงไหน เพราะคะแนนได้ไปเต็มที่ ส่วนตัวขอแนะนำพรรคการเมืองด้วยว่า หากไม่ประสงค์จะให้คนนอกเข้ามายุ่งเกี่ยว ให้ไปเขียนไว้ในร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะปรับแก้ไข คือ ให้พรรคการเมืองสาบานว่าจะไม่เสนอคนที่ไม่เป็น ส.ส.หรือเสนอไปแล้วคนที่ไม่เป็น ส.ส.จะไม่ให้เป็นนายกฯ ดังนั้นเมื่อแก้ไขในข้อบังคับก็ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนการกำหนดกรอบการบริหารราชการของรัฐบาลเป็นส่วนที่ทำให้รัฐบาลบริหารติดขัดจนนำไปสู่ความอ่อนแอได้ ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรอบที่ กรธ.กำหนดไว้ คือ 1.ต้องซื่อสัตย์สุจริต ไม่นำเงินหลวงเข้ากระเป๋า 2.ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ เว้นแต่ข้อมูลที่เป็นความลับ 3.ต้องส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดังนั้นกรอบที่กำหนดไว้จะอึดอัดตรงไหน ส่วนที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ หรือกรอบทำนโยบายที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาตินั้นเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำ เช่น ให้บริการสาธารณสุข, การศึกษา, ดูแลสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ทั้งนี้ กรธ.ไม่ได้กำหนดวิธีปฏิบัติไว้ ดังนั้นรัฐบาลสามารถกำหนดวิธีหรือนโยบายได้
"ในร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเขียนให้มีกลไก หรือกระบวนการเพื่อสร้างเสริมให้เกิดสภา หรือองค์กรใดที่เป็นการพัฒนาประชาชนหรือชุมชน เพราะประชาชนเองสามารถดำเนินการได้ตามสิทธิ และเสรีภาพที่มีเพราะเนื้อหาไม่ได้มุ่งหมายให้ประชาชนพึ่งพิงจากรัฐ โดยไม่พึ่งพิงตัวเอง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนแนวทางไว้หลายที่หลายแห่ง เรื่องของการพัฒนาใดๆ ต้องพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้" นายมีชัย กล่าว