"จากข้อมูลการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า พี่น้องเกษตรกรให้ความร่วมมือต่อนโยบายของรัฐบาลมากขึ้นกว่าในอดีต เกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว บางส่วนเลือกการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น สัตว์ปีก หรือเลี้ยงปลาในกระชัง รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐบาลหลายโครงการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากแบบประชารัฐ และชดเชยการสูญเสียรายได้ เช่น การจ้างงานขุดลอกคลองชลประทานในชุมชน ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 40,000 ราย ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั่วประทศข้อมูล ณ เดือนมกราคมประมาณ 4 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ ในปี 57/58 และจาก 15 ล้านไร่ ในปี 56/57 หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยาก็จะพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2559 มี 2.91 ล้านไร่ ลดลงจาก 4.84 ล้านไร่ในปี 57/58 และ 7.99 ล้านไร่ในปี 56/57 ส่วนพี่น้องเกษตรกรบางรายที่ยินดีจะรับความเสี่ยง และยังคงยืนยันจะปลูกข้าวนาปรังต่อไป เข้าใจดีว่าหากเกิดความเสียหายจะไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะมิใช่ความเสียหายจากภัยพิบัติ และเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลแล้วว่าบางพื้นที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนน้ำได้จริงๆ เพราะเป็นพื้นที่สูงไม่คุ้มต่อการผันน้ำ หรือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อีกทั้งอาจส่งผลกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมชลประทานพบว่าในปี 54 /55 มีน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่มีการปล่อยระบายออกถึง 14,000 ล้าน ลบ.ม. ด้วยความกังวลของรัฐบาลในสมัยนั้นว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำซ้อน โดยมิได้คิดเผื่อว่าหากเกิดฝนตกน้อยจะเป็นอย่างไร ยิ่งเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดออกมา ทำให้มีพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังซึ่งเป็นพืชใช้น้ำมากทั่วประเทศเพิ่มอย่างมากเป็น 15 ล้านไร่ ทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ณ เวลาที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในปี 57/58 มีน้ำต้นทุนในเขื่อนเหลือเพียง 6,777 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับภาวะอากาศที่แห้งแล้งฝนทิ้งช่วงทำให้ต้นทุนน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง
"ในปี 58/59 เรามีน้ำต้นทุน 4,247 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งแม้นไม่มาก แต่รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกหน่วยและกองทัพ เพื่อดูแลให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ว และคาดการณ์ว่า ด้วยแผนการบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ เราจะมีน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูแล้ง 1,590 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งรัฐบาลจะเดินหน้าแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในรูปแบบประชารัฐ ร่วมมือกันทั้งประชาชนและรัฐบาล ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 12 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อมิให้ประเทศไทยเกิดความขาดแคลนน้ำ หรือต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตน้ำกินน้ำใช้อีกในอนาคต เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกษตรกรไทยทุกคนบนแผ่นดินไทย" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว