ประธาน กรธ.เล็งขยับโรดแมพเลือกตั้งในช่วงก.ค.-ส.ค.ปี60 ให้สอดคล้องคสช.

ข่าวการเมือง Thursday February 4, 2016 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรธ.มีแนวความคิดปรับปรุงเนื้อหาของบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นในปี 2560 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจจะกำหนดให้มีการเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งประมาณ 5-6 ฉบับให้เสร็จ และมีผลบังคับใช้ก่อนเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องให้กฎหมายลูกต้องมีผลบังคับใช้ทั้ง 10 ฉบับตามที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ
"กำลังคิดกันอยู่ เพราะเมื่อท่านนายกฯ ออกมาพูดในเรื่องของการเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง ท่านไม่ได้บอกว่าต้องให้มีการเลือกตั้งในวันที่เท่าไหนในเดือนกรกฎาคม แต่บอกว่าให้เข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง ดังนั้นเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมก็น่าจะไปได้ เราก็จะมาดูว่าที่เรากำหนดทำกฎหมายลูกเวลา 8 เดือนมันก็หืดขึ้นคอ แต่ว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไรที่จะทำให้กฎหมายที่จำเป็นในการเลือกตั้งสามารถออกมาให้ได้ภายในระยะเวลาตามโรดแมปของท่านนายกฯ หรือจะล่าช้าไป 10-20 วันก็ค่อยมาว่ากันอีกที ก็กำลังไปดูอยู่" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมปี 2560 หากนายกรัฐมนตรียืนยันอย่างนั้น แต่ กรธ.ต้องมาดูว่าจะปรับอย่างไรให้มีความเป็นไปได้ตามนั้น

"อย่างน้อยต้องให้กฎหมายลูกเสร็จ 5-6 ฉบับ ถ้าทำฉบับละเดือนก็น่าจะเสร็จ และก็น่าอยู่ในวิสัยที่จะจัดการเลือกตั้งช่วงนั้นได้" นายมีชัย กล่าว

ส่วนกฎหมายลูกที่เหลือซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งจะดำเนินการในระหว่างจัดการเลือกตั้ง เพราะถ้าไม่ทำไว้จะส่งผลให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีตอีก จนกลไกต่างๆ ที่วางไว้ไม่สมบูรณ์

"คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับรู้ถึงความกังวลของท่านนายกฯ แล้ว และก็กำลังพยายามมาดูว่าจะปรับและเขียนให้เกิดความมั่นใจได้อย่างไร" นายมีชัย กล่าว

สำหรับข้อท้วงติงของนายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แสดงความคิดเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป นายมีชัย ยืนยันว่า ไม่ได้มีการให้อำนาจเพิ่มเติม อย่างกรณีของศาลรัฐธรรมนูญก๊มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 เพียงแต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพิ่มตรงที่การทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีที่องค์กรอิสระกระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักการที่ต้องการให้องค์กรอิสระถูกตรวจสอบถ่วงดุล

"มันก็น่ากังวลนะครับ เพราะว่าระดับท่านเนี่ยท่านฟังจากคนวิพากษ์วิจารณ์และก็ไปวิจารณ์ต่อ ถ้าท่านจะกรุณาอ่านสักนิดก็จะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจมากขึ้นไปจากที่เคยมีอยู่" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า เวลานี้มีความน่ากังวล คือ การฟังมาและกระโดดจับและนำไปวิจารณ์ต่อ ถ้าสิ่งที่ฟังมาผิด ข้อวิจารณ์จะผิดไปเรื่อยๆ ดังนั้น กรธ.กำลังหาหนทางว่าจะทำอย่างไรเอาข้อมูลที่แท้จริงออกไปให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนได้รู้ของจริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ