ส่วนประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่พูดถึงกันมาก เช่น ที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีข้อรังเกียจคือถ้าไปเลือกตั้ง ส.ว.การเมืองก็จะเข้ามาอีก เพราะยากที่ใครจะไปหาเสียงโดยไม่อิงกับการเมือง ถ้าจะทำให้ ส.ว.เป็นกลาง เราก็ไม่อยากให้การเมืองเข้ามา ไม่เช่นนั้นทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอำนาจทางการเมืองเหมือนกัน จึงคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนเดินดินได้เข้ามา จึงให้เลือกกันเองโดยหากลไกไม่ให้ฮั้วกัน
ประธาน กรธ. กล่าวว่า สิ่งที่ กรธ.ต้องการให้เกิดขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ 1.เราอยากทำให้สิทธิประชาชนเกิดดอกออกผลต่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปต่อสู้ดิ้นรน 2.ทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง 3.ทำอย่างไรการเมืองจะสุจริตขึ้น ขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบให้หมดไป แม้จะมีอยู่เรื่อยไป แต่ต้องให้คนพวกนี้เหลือน้อยที่สุด ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ประเทศจะล้ม แต่ถ้าขจัดคนพวกนี้ไปได้ประเทศจะเหลือเงินมหาศาล ดังนั้นรัฐธรรมนูญนี้จะเข้มต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ และการวางกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้พออยู่กันได้ไม่เอาถึงชนะกันจนไม่มีที่อยู่
"การทุจริตคงไม่หมดไปได้ในชั่ววันชั่วคืน และมันคงต้องมีอยู่เรื่อยไป แต่จะต้องทำให้เหลือน้อยที่สุด จับคนไหนก็เอาออกไป เราจะมีเงินเหลือมหาศาล เพียงแค่รัฐลงทุนปีละ 5 แสนล้านบาท 20% ก็แสนล้านบาท ท่านทั้งหลายอยู่กับพื้นที่ก็รู้ว่าไม่ใช่ 20%แล้ว มีคนมาเล่าให้ฟังว่ามีถึง 100% เขาบอกว่ากว่าจะไปจากส่วนกลาง เจ้าแม่เอาไปแล้ว 60% จังหวัดเอาไป 20% ท้องถิ่นเหลือ 30% ไม่รู้จะทำอย่างไร โครงการร้อยบาทเหลือแค่สามสิบ ท้องถิ่นก็บอกว่าไหนไหนก็ไหนไหนแล้วก็ไปเรียกผู้รับเหมามาว่าแกเอา 15% ฉันเอาไป 15% แกไม่ต้องทำแต่เซ็นส่งมอบงานและฉับรับมอบงานก็แล้วกัน ผมถึงได้รู้ว่ามันเป็นได้ถึงขั้นนั้น ดังนั้นอันตรายของการทุจริตมีความรุนแรงมาก ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆผมว่าไม่เกิน 10 ปีเราล้ม ล้มแบบนึกภาพไม่ออก รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเข้มกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ" นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ. กล่าวว่า กลไกการเลือกตั้งใบเดียวแบบระบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นกลไกที่ทำให้พออยู่กันได้ ถามว่าพรรคกับคนแยกกันได้หรือไม่ ถ้าคนดีไปอยู่พรรคไม่ดี ก็กลายเป็นแกะดำแกะขาวในพรรคนั้น ฉะนั้นพรรคกับคนแยกจึงกันไม่ได้ เราต้องดูทั้งพรรคและคนไปพร้อมกัน และต้องไม่ให้เสียงของประชาชนถูกทิ้งน้ำ ส่วนพรรคอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไปหารือกันแล้วประกาศรายชื่อมา 3 คน เวลาประชาชนไปเลือกจะได้ดูทั้งคนทั้งพรรค อีกทั้งที่ผ่านมาประชาชนต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ครั้งนี้จะได้รู้ข้อมูลทั้งหมดของการเมือง
"จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน บอกจะคนนอกหรือคนในก็ได้ แต่ต้องเป็นคนดีไม่โกง ที่คนชอบมาพูดกรอกหูกันทุกวันว่าจะเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ เขาหลอก บิดเบือนถึงขั้นโกหกก็มี เพราะจริงๆเขาเป็นคนเอา เพราะพรรคต้องมีมติล่วงหน้า เขาต้องคิดของเขาเอง ดังนั้นเวลาเห็นข้อมูลของพรรคการเมืองบางพวก ช่วยกลับมาดูร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร จะได้ช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ" นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ. กล่าวว่า การเขียนเรื่องสิทธิของประชาชน กรธ.พิจารณาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เป็นสำคัญแล้วนำมารวมกัน แล้วคิดว่าทำอย่างไรให้สิทธิประชาชนเกิดขึ้นจริงแล้วได้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่ต่อสู้ให้ได้มา กรธ.จึงแยกสิทธิที่เกี่ยวกับตัวบุคคล และสิทธิจำเป็นที่ประชาชนทุกคนควรต้องมี จึงไปเขียนหมวดใหม่ คือหน้าที่ของรัฐ หากรัฐไม่ปฏิบัติจะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมีโทษพ้นจากตำแหน่งซึ่งแรงกว่า
ประธาน กรธ. กล่าวว่า เรื่องที่บิดเบือนอีกคือระบุว่า กรธ.ตัดสิทธิหมดเลย ตนเองก็ไม่รู้ว่าเขาอ่านหรือไม่ ในเรื่องของชุมชนเราเขียนไว้ถึง 6 แห่ง ในมาตรา 42 และ 43 เขียนในหน้าที่ของรัฐในการให้ประชาชนมีส่วนร่วม อีกทั้งในมาตรา 50,53 และ 54 เราคุ้มครองชุมชน และปัจเจกบุคคลถึงขนาดที่ว่าในการพัฒนาทรัพยากรต้องนึกถึงชุมชนว่าเขาได้ประโยชน์อะไรบ้าง ตัดสิทธิการศึกษาของประชาชนออก 3 ปี ตนเองก็นึกไม่ออกว่าเขาไปเอามาจากไหน จริงอยู่ว่าในรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนว่ารัฐพึงจัดการศึกษา 12 ปี โดยรัฐไม่เก็บค่าใช้จ่าย ในการศึกษาภาคบังคับรัฐต้องไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ในการศึกษาอื่นรัฐต้องดำเนินการให้คนไม่มีเงินเรียนได้ ซึ่งต่างกันคือจากเดิมเราให้หมดทั้งเศรษฐีและยาจก ถามว่าเป็นธรรมแล้วหรือที่รัฐจัดให้แบบตามมีตามเกิด
ประธาน กรธ. กล่าวว่า กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจไม่เหมือนปี 2540 และ2550 เพราะตอนนั้นปัญหาของประเทศไม่ได้รุนแรงเหมือนที่เผชิญอยู่ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับสร้างเอาไว้ และเขียนกฎหมายรองรับไว้หมดแล้ว เราเอามาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ด้วย เพียงแต่จัดหมวดหมู่ใหม่ให้หนักแน่น ทั้งนี้เราหวังการเป็นกัลยาณมิตรในการช่วยกันเสนอแนะ เรื่องใดขาดตกบกพร่องจะนำไปแก้ไขเพิ่มเติม แต่ต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญต้องใช้กับคนทั้งประเทศ จึงต้องเขียนกว้างๆ เพื่อไม่ให้จำกัดใคร ส่วนปลีกย่อยจะไปอยู่ในกฎหมายลูก เราไม่ได้นึกถึงว่าต้องผ่านประชามติ เราคิดแค่ให้ประชาชนเข้าใจ และให้เป็นเรื่องของประชาชนตัดสินใจเราไม่ได้ขัดข้องอะไร