"รัฐธรรมนูญนั้นสำคัญ แต่ที่สังเกตดูเหมือนกับทุกคนคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญคือยาวิเศษ หรือสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ถ้าเราฟังคนโน้นคนนี้พูด ซึ่งไม่ใช่คนร่าง อาจทำให้สับสน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมแจงหลักการในการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญของตนเองว่าใช้หลักการดังนี้ 1.ดูทีละหมวด ถ้าอ่านไปแล้วไม่ติดใจสงสัยก็ผ่านไป 2. สงสัยตรงไหนก็ทำเครื่องหมายไว้ 3. อาจจะต้องไปศึกษาเปรียบเทียบว่าต่างจากของปี 40 อย่างไร ปี 50 อย่างไร 4. นำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์ โดยต้องเอาปัญหาก่อนเดือน พ.ค.57 มาคลี่ออก ดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้หรือไม่ ถ้าได้ได้อย่างไร เพราะช่วงต่อไปนี้เป็นช่วงสำคัญเรื่องของการปฏิรูปประเทศ เราจะต้องดำเนินการไปสู่การการเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ถ้าเรายังไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎหมาย ไม่วางแผนอนาคตประเทศให้ชัดเจน ประชาธิปไตยของไทยจะกลับไปที่เดิม มีความขัดแย้งกัน และอาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
5. เราจะกำหนดอนาคตประเทศไทยกันอย่างไรในเวทีโลก ก็ต้องดูว่า 20 ปีต่อจากนี้ หรือทุก 5 ปี ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในเวทีโลก เราต้องกำหนดมาตรฐานไว้ 6. เรื่องรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกฉบับ ถ้าเรามองว่าคือยาวิเศษ แล้วแก้ไขได้ทุกอย่าง ไปทบทวนดู จะแก้ไขได้ทั้งหมดไหม ความขัดแย้ง ปัญหายิ่งแรง ความขัดแย้งก็สูงขึ้น ถ้าไม่เข้มแข็งพอก็มีปัญหาอีก ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ประชาชนไม่เชื่อมั่น ไม่เชื่อถือ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องมีความสมดุลกัน 7.กฎหมายการปกครอง การบริหาร กฎหมายลูก บทเฉพาะกาลต่างๆ ต้องดูความสัมพันธ์กันให้ต่อเนื่องด้วย
"เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลกับเรื่องรัฐธรรมนูญมากนัก มันอยู่ที่ใจของทุกคน รัฐธรรมนูญใจสำคัญที่สุด ประเทศไทยนั้นเราจำเป็นต้องปฏิรูปหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะถามประชาชนทั้งประเทศว่ามันจำเป็นต้องปฏิรูปไหม" นายกรัฐมนตรี กล่าว