"ท่านนายกฯ ยอมรับกับผลการจัดอันดับดังกล่าว และเห็นว่าประเทศไทยควรจะต้องใสสะอาดมากขึ้นเรื่อยๆ จากความตั้งใจจริงในการทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) การตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) การโยกย้ายข้าราชการที่ได้รับการร้องเรียนหรือมีข้อมูลว่ามีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า ผลการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อ มิ.ย.58 ที่ระบุว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปี 2558 ดีที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากรัฐบาลได้กำหนดให้การปราบปรามการทุจริตเป็น "วาระแห่งชาติ" และปฏิบัติการอย่างเข้มแข็งแล้ว ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนที่ตื่นตัวต่อปัญหาและต่อต้านการทุจริตจนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีกลไกพิเศษหลายประการที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในระยะยาวอีกด้วย
"ท่านนายกฯ เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะต้องไม่เน้นเพียงการปราบปรามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีแก่ประชาชนโดยเฉพาะในระดับเยาวชน ซึ่งถือเป็นการป้องกันก่อนเกิดปัญหาที่ดีที่สุดด้วย เช่น การสร้างสำนึกไทย ไม่โกง แก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ การใช้หลักสูตร “โตไปไม่โกง" ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้สำนึกรักความซื่อสัตย์หยั่งรากลึกลงในจิตใจของเยาวชนไทย เป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว