"วีรชน"ขอโอกาสให้กรธ.ทำหน้าที่ วอนสังคมมองหลักการปชต.อย่างลึกซึ้ง

ข่าวการเมือง Monday February 8, 2016 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอบทความ "ประชาธิปไตย จิตสำนึกของสังคม" โดยกระตุ้นให้สังคมไทยร่วมกันพิจารณาคุณค่าประชาธิปไตยอย่างครบถ้วนรอบคอบ ขณะเดียวกันก็ขอให้นักการเมืองเปิดใจยอมให้ กรธ.ทำหน้าที่ และประชาชนสามารถใช้ความคิดอย่างอิสระ

โดยรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อ้างอิงบทความ "ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยไร้เสรี" (The Rise of Illiberal Democracy) ของนาย Fareed Zakaria ที่ตีพิมพ์ในวารสารการต่างประเทศ เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งหลายคราวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมักจะมองข้ามอำนาจอันจำกัดของตนตามรัฐธรรมนูญ และมีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน บทความดังกล่าวกระตุ้นให้ขบคิดว่า การพัฒนาของประชาธิปไตยและเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก อาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายหลักการประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย คือ จิตสำนึกหนึ่งของสังคมแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นอาจจะผิดพลาดได้ หากตีความว่าประชาธิปไตยคือธรรมาภิบาล ซึ่งนาย Zakaria ได้สรุปบทวิเคราะห์ของตนเองว่า "ประธานาธิบดี Woodrow Wilson นำอเมริกาเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ด้วยความท้าทายที่จะทำให้โลกปลอดภัยสำหรับประชาธิปไตย ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ภารกิจเรา คือ การทำให้ประชาธิปไตยปลอดภัยสำหรับโลก"

16 ปีหลังเข้าสู่สหัสวรรษใหม่นี้ ข้อคิดเห็นของนาย Zakaria อาจตรงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหลายประเทศที่กำลังขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อวางพื้นฐาน ที่เห็นได้จากบทความ "ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยไร้เสรี" (The Rise of Illiberal Democracy) คือ ปฏิกิริยาของนักการเมืองไทยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งถูกเผยแพร่ ขั้วการเมืองไทยต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเดือดเนื้อร้อนใจ เสมือนว่าร่างรัฐธรรมนูญคือสาเหตุที่จะมาจำกัดบทบาทและอำนาจของพรรคการเมือง ทำให้นักการเมืองเสียประโยชน์จากอำนาจทางการเมืองถูกลดลง

พล.ต.วีรชน ขอให้สังคมได้ย้อนกลับไปพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาว่า ขณะนั้นนักการเมืองชุดเดียวกันนี้ใช่หรือไม่ที่ไม่ยอมร่วมกันหาทางออกให้ประเทศทั้งๆ ที่มีโอกาส และหลายคนเหมือนจะลืมไปแล้วว่าเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 คณะ คสช. เป็นผู้จัดให้มีเวทีหารือระหว่างกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย และบางฝ่ายกลับปฏิเสธที่จะร่วมกันเจรจาหาข้อยุติ แต่ตอนนี้กลับมามีปฏิกิริยาต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พล.ต.วีรชน ได้ตั้งคำถามต่อสังคมว่า การเมืองไทยจะไม่สามารถก้าวพ้นจากนักการเมืองที่ยังมีความเชื่อว่า "ผู้ชนะได้ทุกอย่าง" หรือ

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ขณะนี้คำถามที่ควรจะถามขึ้นดังๆ คือ คนไทยจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับที่จะใช้ในอนาคต มากกว่าที่ถามว่าพรรคการเมืองจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเดินสายทั่วประเทศเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ประชาชนรับทราบโดยตรง และต้องขอโอกาสให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่เสียก่อน และดูว่าประชาชนทั่วไปจะมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะนักการเมืองมิใช่กลุ่มเดียวที่จะทำหน้าที่ผู้รักษาระบบประชาธิปไตยของไทย

ตามที่นาย Fareed Zakaria ได้กล่าวไว้ในหนังสือว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ จิตสำนึกสาธารณะที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพทางเศรษฐกิจ หลักพลเมือง ศาสนา และความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย รวมถึงกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยที่เพิ่งผ่านไป สะท้อนให้เห็นชัดถึงข้อสังเกตของนาย Zakaria ว่า รัฐบาลประชาธิปไตยมักจะมีแนวโน้มที่เชื่อว่าตนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยการรวมศูนย์อำนาจ บ่อยครั้งด้วยวิธีการที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญกลับสร้างผลลัพธ์ที่น่ากลัว

ดังนั้นปัญหาของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ความเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นการนำประชาธิปไตยไปใช้ในทางที่ผิดมากกว่า ทั้งนี้ สังคมไทยสมควรจะได้รับโอกาสทดลองระบบการเลือกตั้งอีกครั้ง ไม่ว่าจะออกมาเป็นระบบแบบสัดส่วนหรือรูปแบบใดนักการเมืองจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในตะวันตกและตะวันออก ที่สามารถอยู่ภายใต้ระระบบการปกครองนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่มีความสำคัญที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีระบบการเลือกตั้งอย่างไร คือ พลเมืองไทยทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร และจะดียิ่งไปกว่านั้นหากคนไทยสามารถร่วมกันแก้ปัญหาการเมืองที่หยุดรั้งประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน เช่นเดียวกับการเรียกร้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ทำให้เห็นว่าหากปราศจากการพูดคุยกันถึงจิตสำนึกสาธารณะอย่างจริงจังแล้ว ประชาธิปไตยก็อาจนำมาซึ่งการแบ่งแยกสังคม และอาจทำให้สังคมทวีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงแทนที่ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกคำกล่าวของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้กล่าวไว้ในการประชุมกับเอกอัครราชทูตต่างประเทศ โดยอ้างถึงคำพูดของนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ นายวิล ดูแรนต์ ที่ว่า "ในวัยหนุ่มของฉัน ฉันให้ความสำคัญต่ออิสรภาพ และเมื่อวัยชราฉันให้ความสำคัญต่อความเป็นกฎระเบียบ สิ่งที่ฉันค้นพบที่ยิ่งใหญ่ คือ เสรีภาพเป็นผลิตผลหนึ่งของการคงไว้ซึ่งกฎระเบียบ" สังคมไทยอาจมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่คนไทยจะร่วมกันกำหนดอนาคตการเมืองของประเทศ และสิ่งที่นำมาสู่จุดนี้ คือ ความสงบเรียบร้อยที่กลับคืนสู่ประเทศในขณะนี้ ซึ่งเราไม่ควรทิ้งโอกาสนี้ที่จะค้นหาระบบประชาธิปไตยที่เหมาะกับประเทศไทย

ในตอนท้าย รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ข้อคิดเกี่ยวกับสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญไทยที่วางอยู่บนพาน ซึ่งสะท้อนความหมายว่า รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล พานเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยที่สะท้อนถึงอุดมคติแบบไทย ดังนั้น การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญไทยจะต้องเกิดจากเจตจำนงของคนไทย เช่นเดียวกับแนวคิดของนาย Zakaria ที่ว่า อะไรคือความสมดุลระหว่างการเตรียมประเทศไทยให้พร้อมสำหรับประชาธิปไตย พร้อมๆ ไปกับการรักษาประชาธิปไตยไทยให้ปลอดภัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ