ประธาน กรธ. ยืนยันว่า ไม่มีร่างรัฐธรรมนูญสำรอง เพราะสิ่งที่เคยพูดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เมื่อเห็นของใหม่แล้วจะตกใจนั้น เป็นการเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นว่าไม่ว่าอย่างไรคนที่มาร่างรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการกำหนดบทบัญญัติซึ่งอาจจะแรงกว่า ไม่ใช่แปลว่ามีการเตรียมรัฐธรรมนูญสำรองเอาไว้ ต้องให้ประชาชนดูเนื้อหาจะได้เกิดความร่วมมือ แต่หากไปเผื่อหนทางไว้ล่วงหน้า จะเกิดปัญหาที่ทำให้ประชาชนเกิดการชั่งน้ำหนัก กรธ.จึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่อาจจะนำเอามาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 50 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนกลับมาบรรจุไว้ทั้งหมด หรืออาจจะปรับปรุงในบางส่วน ซึ่งต้องชั่งน้ำหนัก เพราะมีหลายด้าน แต่ยืนยันหลักคิดเกี่ยวกับการกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐแทน ที่จะกำหนดเป็นสิทธิของประชาชน เพราะคนเริ่มรู้แล้วว่าการกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐดีอย่างไร ทำให้มีคนขอให้แปลงหลายเรื่องมาเป็นหน้าที่ของรัฐ จนกรธ.กังวลว่าหากกำหนดเช่นนั้นหมด จะเท่ากับมัดมือรัฐ และกรธ.คิดว่าการกำหนดเป็นหน้าที่รัฐให้หลักประกันกับประชาชนในเรื่องสิทธิมากกว่า และยืนยันว่าประชาชนยังมีสิทธิฟ้องรัฐ
ทั้งนี้ นายมีชัย หลีกเลี่ยงที่จะอธิบายถึงขั้นตอนการฟ้องร้อง โดยกล่าวว่า ประชาชนจะมีสิทธิดำเนินการได้ทันทีเช่นเดียวกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ในการขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินหรือยับยั้งโครงการได้หรือไม่ เพียงแต่ระบุว่าในแต่ละส่วนจะมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่มีเสียงท้วงติงว่าแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญปราบปรามการทุจริต แต่กลับให้ประธานรัฐสภาซึ่งเป็นนักการเมืองใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจส่งศาลหรือไม่ กรณีสงสัยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ประธาน กรธ. กล่าวว่า ได้เห็นเนื้อหาส่วนนี้และบันทึกถึงข้อกังวลดังกล่าวไว้แล้ว รวมถึงมาตรา 265 ที่มีถ้อยคำขัดแย้งกันเองในเรื่องกรอบเวลาของการร่างมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้ใหม่
นายมีชัย ยังกล่าวถึงข้อห่วงใยเรื่องสิทธิชุมชน องค์กรผู้บริโภค สิทธิผู้พิการ รวมถึงมาตรา 190 ที่เคยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 เป็นเรื่องที่ กรธ.จะนำไปพิจารณา ซึ่งในส่วนมาตรา 190 เดิมมีอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนมาตราไปเท่านั้น ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าหากประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าไม่มีปัญหาในการทำประชามติ แต่ส่วนตัวไม่เคยพูดว่า ผลจากการทำประชามติ จะเป็นหลักประกันให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพียงแต่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ มีเงื่อนไขว่าต้องผ่านประชามติ โดยหลักจากนี้จะทยอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหา ก่อนจะถึงการกำหนดร่างสุดท้ายที่จะไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกในวันที่ 29 มี.ค.59 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะรับฟังความเห็นจนถึงวันไหน ก่อนที่จะเห็นร่างสุดท้าย
สำหรับระบบเลือกตั้งนั้น กรธ.ยังเห็นว่าการใช้บัตรใบเดียวสะท้อนเลือกส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลือกนายกรัฐมนตรี เหมาะสมแล้ว เพราะมีการสำรวจความเห็นประชาชนมาแล้วต่างเห็นด้วย ส่วนที่มีการท้วงติงว่าจะทำให้เกิดการซื้อเสียงมากขึ้นนั้น ก็ต้องถามกลับว่ามีระบบใดที่จะทำให้ไม่เกิดการซื้อเสียง
ประธาน กรธ. เชื่อว่า ผลจากระบบนี้จะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น เพราะเสียงของประชาชนมีความหมายมากขึ้น ทำให้การซื้อเสียงเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้ยืนยันว่าหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ไม่ทุกข์และไม่มีความกังวลใจใดๆ เพราะได้พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว