"วิษณุ"เผยเบื้องต้นกำหนดทำประชามติร่างรธน. 31 ก.ค.59-ขยายช่วงเวลาออกมาใช้สิทธิ

ข่าวการเมือง Wednesday February 10, 2016 19:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงบประมาณ, กระทรวงมหาดไทย, คณะกรรมการกฤษฎีกา และตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกี่ยวกับการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงประเด็นเรื่องการนับคะแนนเสียงประชามติ โดยเห็นว่าจะต้องปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ เนื่องจากในมาตรา 37 และ 37/1 มีความขัดแย้งกันว่าจะนับจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือนับจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นดังกล่าวภายใน 1-2 วันนี้ ก่อนจะเสนอกลับมาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบ และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดวันลงประชามตินั้น ที่ประชุมกำหนดไว้เป็นวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค.59 บวกลบไม่เกิน 7 วัน และในครั้งนี้จะขยายเวลาการออกมาใช้สิทธิเป็นตั้งแต่ 08.00 - 16.00 น. จากปกติที่การออกมาใช้สิทธิจะเริ่มตั้งแต่ 08.00 - 15.00 น.

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการพิมพ์แบบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องแจกจ่ายให้แก่ประชาชนได้อย่างน้อย 80% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวน 18.6 ล้านครัวเรือน แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 4,200 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เริ่มขั้นตอนการพิมพ์บัตรจนถึงการลงประชามติประมาณ 900 ล้านบาท, ค่าพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 800-1,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การจัดเวทีแสดงความเห็น, งานด้านธุรการ และงานสร้างความเข้าใจผ่านสื่อ 2,400 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าค่าใช้จ่าย 4,200 ล้านบาทนั้นสูงเกินไป จึงได้มอบหมายให้ กกต.ไปหาแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายลง

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่มีการรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมองว่าหากเป็นการให้ความเห็นโดยไม่มีการบิดเบือนข้อมูล หลอกลวง หรือข่มขู่ ทั้งฝ่ายผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่ต่อต้านสามารถทำได้ และต้องอยู่บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อย แต่ทั้งนี้หากพบว่ามีการบิดเบือนข้อมูล หรือเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จก็จะต้องมีโทษ ซึ่งได้มอบหมายให้ กกต.ไปกำหนดบทลงโทษในส่วนนี้แล้วกลับมาเสนอต่อที่ประชุม โดยแนวทางที่ใช้อาจจะเป็นการใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 หรือออกเป็น พ.ร.บ. หรือเป็น พ.ร.ก.

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกต.เป็นเจ้าภาพ โดยรูปแบบอาจจะเชิญตัวแทนพรรคการเมือง หรือกลุ่มอื่นๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ