สนช.ส่งข้อเสนอแก้รธน. 20 ประเด็น ชี้รณรงค์คว่ำประชามติได้แต่ต้องต้องอยู่ภายใต้กม.

ข่าวการเมือง Thursday February 11, 2016 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของ สนช.ต่อร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาทบทวนว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.ได้รวบรวมความเห็นของสมาชิก สนช. และบุคคลภายนอกที่ได้เสนอแนะความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 12 ก.พ.นี้เพื่อให้สมาชิก สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบรายงานความเห็นและข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญของ สนช. เพื่อส่งต่อไปให้ กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ.59

โดยข้อเสนอที่จะส่งให้ กรธ.มีอยู่ประมาณ 20 ประเด็น อาทิ การเสนอแนะให้ปรับปรุงเนื้อหเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมือง, การปรับปรุงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนที่ยังขาดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญ จึงควรปรับปรุงเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นสากลมากขึ้น เชื่อว่า กรธ.จะทบทวนในสิ่งที่ สนช.เสนอไป เพื่อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด

รองประธาน สนช. กล่าวว่า ส่วนการทำประชามตินั้น ที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เรื่องหลักเกณฑ์การทำประชามติให้ยึดเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธินั้น ขณะนี้ยังไม่มีการประสานงานมายัง สนช. ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ส่วนหลักเกณฑ์การทำประชามตินั้น กกต.จะต้องไปร่างหลักเกณฑ์มา เพื่อส่ง สนช.ให้ความเห็นชอบ ซึ่ง กกต.ควรส่งมาให้ สนช.พิจารณาภายหลังที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสร็จแล้ว

อย่างไรก็ตามคงไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกหลักเกณฑ์การทำประชามติได้ ต้องส่งมาให้ สนช.ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้การรณรงค์ประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญตามกฎหมายประชามติระบุว่า สามารถแสดงความเห็นได้ทั้งการรับร่างและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่าไปคิดว่าจะห้ามรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่การรณรงค์ต้องอยู่ในเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด

รองประธาน สนช. กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ โดยมีผลต่างประมาณ 1 ล้านเสียง สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้นั้น ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของนายวิษณุที่ช่วยกันเสนอแนะทางออกต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปหรือมีอะไรมารองรับว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่หากจะทำตามเงื่อนไขที่นายวิษณุระบุ อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอะไรบางอย่าง ถ้ามีความจำเป็นอาจจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ