"มีชัย"ยันร่างรธน.มีความเป็นสากล สร้างกลไกเหมาะสมกับประเทศ วอนอ่านรายละเอียด

ข่าวการเมือง Thursday February 11, 2016 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในเวทีรับฟัง เรื่อง "บทบาทของผู้หญิงกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสังคม กิจการเด็ก เยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอนหนึ่งว่าการร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องสนุก ต้องติดตาม ต้องรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นขอให้อ่านรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญจะได้รู้ว่าบกพร่องตรงไหน เพื่อทำให้เหมาะกับประเทศ และคนทุกภาคส่วนจะได้ใช้ได้ยาวนาน
"ผมยืนยันว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นสากล คือ แก้ไขปัญหาแต่ละประเทศตามวิถีของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐฯ วิตก เราไม่ได้กังวล สิ่งที่ไม่เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าความเป็นสากลจะหายไป แต่ที่วางกรอบไว้เป็นเรื่องพื้นๆ ที่พึงต้องมี" นายมีชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพสังคมไทยจะกว้างขึ้นจริงจังมากขึ้น เพราะเรื่องสำคัญจะถูกนำไปกำหนดในหน้าที่ของรัฐต้องทำ เพื่อสิ่งที่เคยพูดถึงจะได้ไม่ลอยๆ หากไม่ทำก็เอาออกหรือมีสิทธิฟ้องร้องได้ จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยให้องค์กรอิสระดำเนินการ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เรื่องสำคัญต่อชีวิตทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น การศึกษา รักษาพยาบาล ดูแลทรัพยากร การได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากร กำหนดเป็นหน้าที่รัฐจัดให้ประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากทรัพยากร มากกว่าสิทธิเข้าไปดูแลรักษาทรัพยากรที่เคยมี นอกจากนี้ รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เพราะปัจจุบันประชาชนมีสิทธิรับรู้ข่าวสาร แต่อะไรเปิดเผยไม่ได้ ก็ต้องมีกฎหมายกำหนดชัดเจน ทำแล้วจะเกิดผลต่อประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่แค่เฉพาะผู้เรียกร้อง

ประธาน กรธ. กล่าวต่อว่า การใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพคนอื่น เรื่องนี้อาจหนักต่อคนใช้สิทธิ แต่ถือว่าจำเป็น หากใช้โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพคนอื่นก็อาจจะเกิดความเดือดร้อนได้ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดไว้ว่าการใช้สิทธิ ต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วย จะใช้ลอยๆ ไม่ได้

สำหรับการสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง ในอดีตประชาชนมีหน้าที่ไปหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งเท่านั้น และคนรับเลือกตั้งที่ได้เป็นส.ส.ไม่ได้แปลว่าได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ดังนั้นจึงคิดว่าทำอย่างไรให้ทุกคะแนนได้รับการยอมรับนับถือเสมอภาค จึงใช้วิธีบัตรใบเดียวลงคะแนนมาใช้เป็นเกณฑ์ เพราะทุกคะแนนจะได้รับการยอมรับนับถือ และเกิดความเป็นธรรมต่อการใช้สิทธิทั้งประเทศของประชาชน

ขณะเดียวกัน บังคับให้พรรคการเมืองคัดสรรคนดีเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ใช่ส่งใครก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้พรรคบอกประชาชนในวันสมัครรับเลือกตั้งว่าพรรคส่งใครเป็นนายกฯ 3 ชื่อ เพราะเวลาไปลงคะแนนประชาชนจะได้พิจารณาพร้อมกันไป ถ้าพรรคไหนเอานักเลงหัวไม้เป็นนายกฯ หรือคนขี้โกงเป็นนายกฯ ประชาชนจะได้มีโอกาสพิจารณาทุกแง่มุมก่อนลงคะแนนเสียงซึ่งจะเป็นธรรมต่อประชาชน

"กรธ.ได้สร้างกลไกทั้งหมดเพื่อให้การเมืองวันข้างหน้าโปร่งใส ด้วยการสกัดตั้งแต่ต้นไม่ให้คนมีประวัติไม่ดีเข้ามาในการเมือง หากเข้ามาแล้วก็ยังมีกลไกตรวจสอบระหว่างดำรงตำแหน่ง หากกระทำการลักษณะนั้นก็ออกจากตำแหน่ง ส่วนเรื่องการถอดถอนไม่มีอีกแล้ว หากพบว่าผิดต้องรับผลการกระทำนั้น และสาเหตุที่ไม่ให้ถอดถอน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยดำเนินการได้สำเร็จสักครั้ง" ประธาน กรธ. กล่าว

ขณะเดียวกัน กรธ.ยังได้สร้างกลไกเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเรื่องนี้มีเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 40-50 คือ สามารถวินิจฉัยองค์กรอิสระทำผิดจริยธรรมได้ ด้วยกลไกหวังว่าประเทศก้าวหน้าโปร่งใส

นอกจากนี้ ที่มีการพูดว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ให้ส.ส.ช่วยประชาชนถือว่าเป็นการบิดเบือน เพราะความจริงยังสามารถช่วยได้ เพียงแต่รัฐธรรมนูญไม่ให้เอาเงินไปกองไว้ที่ตัวเองเหมือนในอดีต

ประธานกรธ. ยังกล่าวด้วยว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองทำให้ประชาชนเข้ามาเต็มตัว ด้วยการสร้าง ส.ว.ระบบมาจากประชาชนโดยตรง มาจากทุกสาขาอาชีพ เลือกกันเอง สามารถเดินเข้ามาได้โดยไม่ต้องพึ่งพรรคการเมือง ไม่อยากให้สังกัดพรรค จำเป็นต้องมีเวทีตรงให้ประชาชนได้มาพูด จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเต็มที่มากกว่าแสดงความคิดเห็น

สำหรับการบริหารกิจการบ้านเมืองจะทำให้โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งที่กรอบวางไว้นั้น คือ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ใช้อำนาจอย่างซื่อสัตย์ เสียสละ เปิดเผย รอบคอบ และใช้จ่ายตามวินัยการเงินการคลังเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระยะยาว ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นตำแหน่ง แต่รัฐธรรมนูญบอกว่าให้อยู่ต่อไปก่อนจนกว่ามีครม.ชุดเข้ามา หากกรณี ครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะทุจริตจะให้รักษาการต่อได้หรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ควรรักษาการ ซึ่งถ้าทุจริตจะต้องไปเลย และหากเกิดช่วงสูญญากาศก็เห็นว่าจะใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับร่างของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ ให้ปลัดกระทรวง ข้าราชการระดับสูง ทำหน้าที่ไปพรางก่อนจนกว่ามี ครม.ชุดใหม่เข้ามา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ